Articlesสหรัฐอเมริกา ประเทศแม่แบบของประชาธิปไตยสมัยใหม่ ที่กลับมีรูปแบบการเลือกตั้งแตกต่างจากประเทศอื่น

สหรัฐอเมริกา ประเทศแม่แบบของประชาธิปไตยสมัยใหม่ ที่กลับมีรูปแบบการเลือกตั้งแตกต่างจากประเทศอื่น

การเลือกตั้ง ถือว่าเป็นหน้าที่ของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยส่วนใหญ่ทั่วโลก แต่สำหรับบางประเทศกลับไม่ใช่หน้าที่ของพลเมือง ซึ่งสหรัฐอเมริกาที่ถือว่าเป็นประเทศแม่แบบของประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่มีความเก่าแก่ ได้มีระบบการเลือกตั้งที่แตกต่างจากประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ทั่วโลก

โดยที่ระบบการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาได้มองผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นผู้ที่สมัครใจเข้ามาใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ใช่การถูกบังคับให้ไปใช้สิทธิ์การเลือกตั้งในนามของหน้าที่ของพลเมืองเหมือนประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ และการได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแบบสมัครใจนี้คือ การเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจเลือกอนาคตด้วยตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้ระบบประชาธิปไตยแบบอเมริกันนั้นไม่เหมือนใคร

ไม่ว่าจะเป็นระบบการเลือกตั้งที่มีความแตกต่างตามมลรัฐและเขตปกครองของสหรัฐอเมริกา การลงทะเบียนสิทธิ์เลือกตั้งในมลรัฐส่วนใหญ่ที่มีกระบวนการซับซ้อน และต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดไว้เพื่อให้ได้สิทธิ์การเลือกตั้ง รวมทั้งบางมลรัฐที่มีการริบสิทธิ์เลือกตั้งของผู้ที่เคยกระทำความผิดกฎหมาย และต้องมีการยื่นเรื่องในระดับมลรัฐเพื่อร้องขอสิทธิ์การเลือกตั้งคืน และอื่นๆ ที่ทำให้อเมริกาต่างจากประเทศอื่น

ซึ่งความแตกต่างของระบบเลือกตั้งของมลรัฐต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา จะมีความแตกต่างกันตั้งแต่การได้สิทธิ์การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น มลรัฐ และประเทศ โดยคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นของบางรัฐนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นพลเมืองของประเทศ และเพียงอาศัยอยู่ในพื้นที่พร้อมกับการมีบทบาทในการเสียภาษีให้กับท้องถิ่นก็สามารถเข้าถึงสิทธิ์การเลือกตั้ง และบางครั้งเกณฑ์อายุขั้นต่ำของระดับท้องถิ่นก็มีน้อยกว่าเกณฑ์อายุปกติในบางมลรัฐเช่นกัน

และเรื่องการได้สิทธิ์การเลือกตั้งก็ต่างกัน โดยในมลรัฐส่วนใหญ่จะมีกลไกในการลงทะเบียนเพื่อให้ได้สิทธิ์การเลือกตั้ง ยกเว้นเพียงบางมลรัฐที่หากมีคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครบถ้วน ก็จะสามารถได้รับสิทธิ์โดยอัตโนมัติซึ่งเป็นเรื่องปกติของประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกที่จะมอบสิทธิ์การเลือกตั้งแก่พลเมืองของประเทศโดยอัตโนมัติ และไม่ต้องลงทะเบียนเพื่อเข้ารับสิทธิ์การเลือกตั้งแต่อย่างใดเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการริบสิทธิ์การเลือกตั้งสำหรับผู้ที่กระทำความผิดและอยู่ในกระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมายสหรัฐอเมริกาต่างๆ เช่น การก่ออาชญากรรม การเลี่ยงภาษี การก่อการร้าย ฯลฯ ทั้งกฎหมายระดับมลรัฐและระดับประเทศ ที่จะมีผลบังคับใช้ในมลรัฐส่วนใหญ่ และมีเพียงไม่กี่มลรัฐที่เปิดโอกาสให้นักโทษในเรือนจำสามารถใช้สิทธิ์การเลือกตั้งได้

ซ้ำร้ายกว่านั้น เมื่อพ้นโทษไปแล้ว ในหลายมลรัฐก็จะมีการคืนสิทธิ์การเลือกตั้งให้กับผู้ที่เคยกระทำความผิด แต่ในบางมลรัฐ การริบสิทธิ์การเลือกตั้งจะยังคงอยู่แม้ว่าจะพ้นโทษไปแล้ว และจะต้องมีการดำเนินการในหลายขั้นตอนเพื่อให้ได้สิทธิ์คืน

ในหลายกรณีสามารถยื่นคำขอร้องและได้สิทธิ์คืนได้ง่ายในบางมลรัฐ แต่ก็มีบางมลรัฐที่การยื่นคำขอร้องจะมีความยุ่งยากและต้องให้ผู้ว่าการรัฐเป็นผู้รับรองการคืนสิทธิ์การเลือกตั้ง ทำให้มีอดีตนักโทษเป็นจำนวนมากในบางมลรัฐที่ยังไม่ได้สิทธิ์การเลือกตั้งคืนแม้ว่าจะพ้นโทษแล้วก็ตาม

ยังไม่นับถึงกระบวนการได้มาซึ่งประมุขฝ่ายบริหาร คือ ประธานาธิบดี ที่มีรูปแบบเป็นของตนเอง ไม่เหมือนใคร คือการให้ความสำคัญกับสถานะของมลรัฐผสมผสานกับจำนวนประชากร จึงทำให้การจะได้เป็นประมุขฝ่ายบริหารจะต้องชนะใจในพื้นที่มลรัฐต่างๆ ที่ไม่ใช่เพียงการเอาใจใส่แค่เพียงมลรัฐที่มีประชากรมาก ซึ่งจะเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างมลรัฐที่มีประชากรน้อยและมลรัฐที่มีประชากรมาก

ตรงนี้คือ ความแตกต่างของคุณค่าประชาธิปไตยแบบอเมริกันและแบบกระแสหลัก ที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในทวีปยุโรป กล่าวคือ คุณค่าประชาธิปไตยแบบอเมริกันมองว่ามลรัฐในแต่ละมลรัฐมีอำนาจปกครองตัวเองในระดับหนึ่ง และได้มอบอธิปไตยส่วนหนึ่งจำพวกการทหาร การต่างประเทศ และการคลัง ให้รัฐบาลกลาง และด้วยที่มลรัฐในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน จึงควรใช้ระบบตัวแทนในแต่ละมลรัฐในการเลือกรัฐบาลกลางเข้าไปบริหาร

แทนที่จะเป็นระบบ 1 คน ต่อ 1 เสียงอย่างที่หลายประเทศทำ กลับเป็นระบบที่ในแต่ละมลรัฐมีการเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวแทนของมลรัฐ ที่จะมีสัดส่วนที่ต่างกันในแต่ละมลรัฐ แล้วแต่สัดส่วนจำนวนประชากรซึ่งอิงกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และจำนวนตายตัวของแต่ละมลรัฐซึ่งอิงกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภารวมกัน ซึ่งจะมีจำนวนที่ตายตัวคือ 2 คน ต่อ 1 มลรัฐในทุกมลรัฐ ซึ่งตัวแทนของแต่ละมลรัฐก็จะอิงตามสัดส่วนประชากรและสัดส่วนตายตัวมารวมกันเพื่อให้ได้จำนวนตัวแทนของมลรัฐ

ทำให้สหรัฐอเมริกาได้ประธานาธิบดีที่มีความชอบธรรมจากหลายมลรัฐและพลเมืองที่ยอมรับประมุขฝ่ายบริหารดังกล่าว และด้วยที่สิทธิ์การเลือกตั้งส่วนใหญ่มาจากการลงทะเบียนที่ต้องมีคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในระดับหนึ่ง จึงเป็นหลักประกันต่อระบอบประชาธิปไตยแบบอเมริกันว่า เป็นระบอบการเมืองที่ให้ความสำคัญกับทุกมลรัฐและไม่ทอดทิ้งกลุ่มประชาชนใดๆ ในประเทศ

แต่ความแตกต่างเหล่านี้ก็ยังถูกกังขาจากสังคมอเมริกันบางส่วนว่า เป็นการเอื้ออำนวยให้อำนาจการเลือกตั้งอยู่ในมือของมลรัฐชนบทที่มีประชากรน้อยมากกว่าความเป็นจริง แทนที่จะใช้ระบบการเลือกตั้งแบบประเทศประชาธิปไตยทั่วไปส่วนใหญ่ที่ใช้ระบบ 1 คน 1 เสียง แบบอัตโนมัติที่สะท้อนความเท่าเทียมมากกว่า ขณะเดียวกันก็ถูกสนับสนุนจากสังคมอเมริกันส่วนหนึ่งเช่นกันในฐานะกลไกการเลือกตั้งที่จะได้มาซึ่งคนที่พร้อมที่จะใช้สิทธิ์เลือกตั้งผ่านการลงทะเบียนและได้รับการดูแลทุกมลรัฐอย่างเท่าเทียมกัน

เพราะในแง่หนึ่ง ระบบตัวแทนมลรัฐทำให้มูลค่าของคะแนนเสียงไม่ได้เท่ากันในแต่ละมลรัฐที่มีจำนวนตัวแทนเหมือนกัน และมักมองว่ามลรัฐที่มีประชากรน้อยจะได้ประโยชน์จากระบบนี้ ในขณะที่อีกแง่หนึ่งก็มองว่า ระบบตัวแทนมลรัฐก็นำสัดส่วนของประชากรมาผสมผสานกับจำนวนตายตัวอยู่แล้ว ทำให้มีความยุติธรรมในแต่ละมลรัฐโดยตัวระบบเอง ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดฉันทามติร่วมกันที่มลรัฐส่วนใหญ่ยอมรับ ไม่ใช่ประชากรส่วนใหญ่ยอมรับซึ่งอาจกระจุกตามมลรัฐใหญ่ๆ แทนที่จะถูกยอมรับจากมติมหาชนส่วนใหญ่

สุดท้ายนี้แม้ว่าระบบการเลือกตั้งและการเมืองของสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้นำของโลกเสรีนิยมประประชาธิปไตยปัจจุบันจะถูกกังขาอยู่มากมายในสังคมอเมริกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบการเมืองของสหรัฐอเมริกาสามารถดำรงอยู่มาได้หลายร้อยปี ตั้งแต่ยุคการก่อตั้งประเทศจนถึงยุคปัจจุบัน และได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของวิวัฒนาการทางความคิดแบบอเมริกันที่ยังคงมีบทบาทสำคัญมาจนถึงปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

โดย ชย

# TheStructureArticle
#สหรัฐ #การเลือกตั้ง

อ้างอิง :

[1] Presidential Election Process
https://www.usa.gov/election
[2] Who Can and Can’t Vote in U.S. Elections
https://www.usa.gov/who-can-vote
[3] How To Register To Vote In the US Election
https://www.topuniversities.com/where-to-study/north-america/united-states/how-register-vote-us-election

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า