
ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลบุก กสทช. เรียกร้องให้ทบทวนการถ่ายทอดสดบอลโลก ให้ “ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ”
ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลบุก กสทช. ร้องจัดสรรถ่ายทอดฟุตบอลโลกไม่เท่าเทียม เอื้อประโยชน์เอกชนบางราย ยื่น 3 ข้อ ทบทวนการถ่ายทอดสด
จากกรณีบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ออกหนังสือเรื่องการแจ้งสิทธิการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 ระบุว่าสิทธิการถ่ายทอดฟุตบอลโลกของกลุ่มทรู และขอให้ดำเนินการถ่ายทอดการแข่งขัน โดยไม่ละเมิดสิทธิให้สอดคล้องกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะการถ่ายทอดสดบนระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน จะนำไปเผยแพร่ตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 ได้เฉพาะบนระบบดาวเทียมและระบบเคเบิล ไม่รวมถึงบนระบบไอพีทีวี ระบบอินเทอร์เน็ต ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ และระบบ OTT นั้น
นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการและที่ปรึกษาสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ได้เข้ายื่นหนังสือแก่กสทช. เรื่องการจัดสรรการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก (รอบสุดท้าย) 2022 ให้กับผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงทั้ง 64 คู่ ตลอดการแข่งขัน
โดยเนื้อหาในหนังสือแสดงจุดยืนให้ กสทช. วินิจฉัยหลักการการจัดสรรการถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 ที่ผ่านกองทุน กทปส. ให้เงินสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก (รอบสุดท้าย) 600 ล้านบาท แก่ กกท. เพื่อนำไปเป็นเงินตั้งต้นในการดำเนินซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย จากกรุงโดฮา รัฐกาตาร์ โดยมีหลักการตามบันทึกข้อตกลงที่ระบุไว้ว่า ให้จัดสรรการถ่ายทอดสดแก่ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลอย่างเท่าเทียม และทั่วถึงทั้ง 64 คู่ ตลอดการแข่งขัน
เนื่องด้วยการดำเนินการของ กกท. เกี่ยวกับการจัดสรรการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งนี้ตั้งแต่เริ่มต้น มีข้อพึงสังเกตถึงความไม่ถูกต้องในการจัดสรรการถ่ายทอด สมาคมฯ จึงเรียนไปยัง กสทช. เพื่อโปรดตรวจสอบและวินิจฉัยว่าการจัดสรรครั้งนี้มีความถูกต้อง เป็นธรรมหรือไม่ ตามรายละเอียด 3 ข้อ ดังนี้
1.การได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 600 ล้านบาท จากกองทุน กทปส. ซึ่งเป็นเงินที่ได้ส่งมอบมาจากผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อเป็นเงินทุนในการสนับสนุน ส่งเสริม วิจัย และพัฒนาในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ นั่นหมายถึง ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ร่วมสนับสนุนไปกับกิจกรรมนี้ด้วยเช่นกัน
การจัดสรรแมตช์ในการถ่ายทอดสดให้แก่ช่องต่างๆ ควรเป็นไปตามมติในการให้เงินสนับสนุนของ กสทช. ทั้ง 64 แมตช์ (แบ่งสิทธิประโยชน์ตามสัดส่วนของการสนับสนุน คือ คิดเป็น 40% ของงบฯ การซื้อลิขสิทธิ์ 1,400 ล้านบาท) ไม่ใช่เพียง 32 แมตช์ และได้รับหลังจากที่ผู้สนับสนุนหลัก (กลุ่มทรู ซึ่งมีธุรกิจเป็นช่องทีวีดิจิทัลด้วย) เลือกแมตช์สำคัญไปแล้ว ซึ่งสะท้อนถึงความไม่ทั่วถึงและไม่เท่าเทียมอย่างมาก
2.กรณีกลุ่มทรูให้การสนับสนุน 300 ล้านบาท ได้รับสิทธิประโยชน์ครอบคลุมสิทธิการถ่ายทอดทุกช่องทาง ทุกแพลตฟอร์ม แบบ exclusive ได้สิทธิในการเลือกคู่แข่งขันจำนวน 32 แมตช์ และได้นาทีโฆษณาจากช่องทีวีดิจิทัลที่ร่วมถ่ายทอดจาก กกท. ส่วน กสทช. สนับสนุนเงินผ่านกองทุน กทปส. จำนวน 600 ล้านบาท ด้วยมติต้องจัดสรรสิทธิการถ่ายทอดให้แก่ช่องทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นแหล่งที่มารายได้ของกองทุนอย่างทั่วถึงเท่าเทียมทั้ง 64 แมตช์ กลับได้รับการจัดสรรสิทธิเพียง 32 แมตช์ และเป็นแมตช์ที่เหลือจากที่กลุ่มทรูได้เลือกไปแล้ว ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ไม่เป็นธรรม และผิดต่อหลักการ “ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ” และเอื้อประโยชน์กับเอกชนรายใดรายหนึ่งอย่างชัดเจน
3.กกท. จัดสรรการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกเรียบร้อยแล้วในวันที่ 19 พ.ย. ตั้งแต่ 10.00-16.00น. โดยให้สิทธิแก่กลุ่มทรูที่เป็นผู้สนับสนุนหลัก ได้เลือกแมตช์ต่างๆ ก่อน โดยแบ่งส่วนที่เหลือจากการเลือก 32 แมตช์ ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ทั้ง 21 ช่องที่ร่วมถ่ายทอด โดยสมาคมฯ และสมาชิกช่องสถานี ทักท้วงหลายครั้งต่อ กกท. ในหลักการที่ไม่สอดคล้องกับมติทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ ของ กสทช. แต่ทาง กกท. ยังยืนยันที่จะดำเนินการต่อไป
สมาคมฯ จึงเรียนมายัง กสทช. เพื่อยืนยันว่าการที่สถานีโทรทัศน์ดิจิทัลของสมาชิก 13 ช่อง ที่เสนอรับสิทธิร่วมถ่ายทอดไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ กกท. ซึ่งขัดต่อหลักการทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ แต่ได้จำยอมร่วมจับฉลากไปในวันที่ 19 พ.ย.นั้น เหตุเพราะคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ชมฟุตบอลโลกที่จะถ่ายทอดสดคู่แรกในวันที่ 20 พ.ย. เวลา 23.00 น. ให้สามารถดำเนินไปได้ก่อน และแจ้งต่อที่ประชุมของ กกท. อย่างชัดเจนแล้ว
การจับฉลากครั้งนี้สมาคมฯ ไม่ถือเป็นการยอมรับในหลักการและวิธีการของ กกท. ขอสงวนสิทธิในการทักท้วง ไม่เห็นด้วยในการจัดสรรการถ่ายทอดของ กกท. จึงเรียนมายังคณะกรรมการ กสทช. เพื่อวินิจฉัยว่าการจัดสรรสิทธิการถ่ายทอดสดของ กกท. เป็นไปโดยชอบ และขัดกับหลักการทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ของ กสทช. หรือไม่ อย่างไร