
เริ่มมีผลบังคับใช้ พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม ช่วยลดความยุ่งยาก ซับซ้อน ลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนติดตามความคืบหน้าคดีได้
พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้แล้ว ช่วยลดความยุ่งยาก ซับซ้อน ลดเหลื่อมล้ำ ให้ประชาชนตามความคืบหน้าคดีได้
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้แล้ววานนี้ (23 ม.ค.) โดยให้กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนให้ชัดเจน เพื่อประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า สามารถตรวจสอบความคืบหน้าการทำงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมได้
โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวสอดคล้องกับ 1 ใน 6 ด้านของยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ และแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้แนวทางไว้
การดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม มีขั้นตอนการดำเนินการตามแผนปฏิรูปเพื่อกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน มีกฎหมายที่กำหนดให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอน และกำหนดให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมสร้างระบบการตรวจสอบ หรือแจ้งความคืบหน้าให้ประชาชนตรวจสอบว่าเรื่องที่ใช้บริการหรือเกี่ยวข้อง ดำเนินงานไปถึงขั้นตอนใด (Tracking / Notification System)
เรื่องดังกล่าวยังช่วยลดขั้นตอนและความยุ่งยาก ซับซ้อน ช่วยเหลือประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ พร้อมทั้งได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดระบบติดตาม ตรวจสอบ และแจ้งความคืบหน้า เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบ
หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่มีหน้าที่และอำนาจดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ศาล (ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร ศาลรัฐธรรมนูญ) องค์กรอัยการ และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
“อดีตบิ๊กข่าวกรอง” สุดทน ! จี้ผู้บริหารจุฬาฯ ลาออก ปมปล่อยนิสิตนำ “พระเกี้ยว” มาย่ำยีเล่นข้างถนน
