Articlesแบ่งแยกและปกครอง เครื่องมือทรงพลังทางการเมือง ที่ไม่เคยล้าสมัย

แบ่งแยกและปกครอง เครื่องมือทรงพลังทางการเมือง ที่ไม่เคยล้าสมัย

แบ่งแยกและปกครอง” เป็นหนึ่งในปรัชญาทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่มีการพัฒนารูปแบบการปกครองในระดับสังคมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จากช่วงก่อนหน้านี้ที่ยังมีการปกครองแค่ในระดับชุมชนขนาดเล็ก โดยปรัชญาชุดนี้ได้มีการพัฒนาตามยุคสมัย และได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองชิ้นสำคัญที่ประสบความสำเร็จและยังคงใช้งานได้ดีอยู่ แม้ว่าจะมีการใช้งานมาตั้งแต่โบราณกาลแล้วก็ตาม

 

โดยความสำเร็จที่ว่านี้ ไม่ใช่เพียงแค่การสถาปนาอำนาจในการเข้าไปปกครอง หรือการขยายอิทธิพลของอุดมการณ์ทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการสร้างหลักประกันว่า จะมีมวลชนกลุ่มใหญ่ที่พร้อมสนับสนุนและมีแพะรับบาปในการรับเรื่องแย่ ๆ เพื่อให้ความสำเร็จเหล่านี้ยังคงมั่นคงและไม่สั่นคลอนได้ง่าย เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยุ่งยากต่อการรักษาอิทธิพลทางการเมืองที่มีอยู่ไม่ให้เสื่อมลงไป

นอกจากนี้ยังสามารถสร้างความแตกแยกระหว่างกลุ่มมวลชน ให้เกิดความขัดแย้งในประเด็นที่หลากหลาย และสามารถทำให้เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่ากลุ่มมวลชนจะไม่สามารถรวมตัวกันติด เพื่อต่อต้านหรือแสดงพลังใดๆ ในการทำให้การปกครอง หรือคุณค่าทางความคิดอุดมการณ์ใด ๆ เสื่อมความนิยมหรือล่มสลายลงจากปรากฎการณ์มวลชน ซึ่งรวมถึงการสร้างสิ่งเร้าต่าง ๆ เพื่อเบี่ยงเบนไปจากเรื่องที่ควรจะสนใจ และลดทอนความเป็นหมู่คณะลง 

 

สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์โลกอยู่บ่อยครั้งตั้งแต่สมัยโบราณ และเป็นหลักคิดในปรัชญาทางการเมืองไม่กี่อย่างที่เป็นจุดร่วมของแนวคิดการปกครองแทบทั้งหมด ที่มักใช้การแบ่งแยกเพื่อเสริมสร้างอำนาจหรืออุดมการณ์ และลดโอกาสของการท้าทายอุดมการณ์หรืออำนาจที่ได้ยึดถือไว้ ด้วยการทำให้มวลชนเป็นเครื่องมือทางการเมืองเกิดการแตกแยกกันเอง เพื่อให้มีช่องว่างในการแทรกเข้าไปพิชิตและปกครองในที่สุด

 

เนื้อหาสาระของหลักแบ่งแยกและปกครอง เริ่มจากการหาประเด็นที่ทำให้เกิดการแตกแยกอย่างรุนแรงระหว่าง 2 กลุ่มขึ้นไป ซึ่งจะเป็นประเด็นใดก็ได้ที่เป็นข้อถกเถียงของสังคม แล้วขยายประเด็นเหล่านั้นให้รุนแรงขึ้นเพื่อทำให้บรรยากาศในสังคมเกิดความแตกแยกจากประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะเป็นประเด็นเล็ก ๆ ในวงสังคมทั่วไปหรือแม้แต่ประเด็นสำคัญในระดับภาพรวมใหญ่ ก็สามารถนำมาเป็นประเด็นได้เช่นกัน

 

ต่อมาคือการสร้างอุปสรรคในการสื่อสารระหว่างกลุ่มคน โดยปกติแล้ว หากมีการสื่อสารระหว่างกลุ่มคน ไม่ว่าจะเกิดความขัดแย้งหรือข้อโต้เถียงใด ก็จะสามารถหาข้อยุติหรือบรรเทาลงได้ด้วยการสื่อสารร่วมกัน แต่หากมีการสร้างอุปสรรคที่ทำให้การเชื่อมต่อสื่อสารเป็นไปได้อย่างลำบาก การเลี้ยงความขัดแย้งก็จะยังคงประสบความสำเร็จโดยเฉพาะการบังคับคนให้เลือกข้างเลือกฝ่าย ถือเป็นวิธีที่ดีในการเลี้ยงความขัดแย้งเอาไว้

 

สุดท้ายคือ การสนับสนุนกลุ่มหนึ่งให้เป็นกลุ่มที่ตนสนับสนุน และผลักให้อีกกลุ่มหนึ่งกลายเป็น “แพะรับบาป” ที่คอยรองรับความเลวร้ายทุกอย่าง เพื่อให้กลุ่มที่ตนสนับสนุนดูเป็นกลุ่มที่มีความคิดเป็นเหตุเป็นผล มีความเป็นมิตร และดูเป็นเสียงส่วนใหญ่ของสังคม กลุ่มแพะรับบาปส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มที่มีคนจำนวนน้อย หรือไม่ได้แสดงออกความไม่พอใจต่อการถูกโยนเป็นแพะรับบาปสู่สังคมมากนัก 

 

เมื่อทำครบทุกขั้นตอนที่กล่าวมาแล้ว จะเกิดการแบ่งแยกกลุ่มคนให้แตกออกมาเพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายใด ๆ ตามที่ต้องการ ซึ่งหลักการนี้ได้กลายเป็นหลักสำคัญที่ใช้สำหรับการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง หรือเพื่อรักษาอิทธิพลทางการเมืองที่มีอยู่เอาไว้ ทั้งนี้ ไม่จำเป็นว่าการแบ่งแยกจะต้องเกิดขึ้นในระดับภาพรวมใหญ่เท่านั้น ในระดับวงสังคมทั่วไปก็สามารถเกิดการแบ่งแยกได้ หากมีประเด็นที่เข้ามาสร้างความตึงเครียดให้เกิดขึ้นในสังคม

 

ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความขัดแย้งด้านวัฒนธรรม ศาสนา การศึกษา การเมือง เศรษฐกิจ หรือประเด็นย่อยอื่น ๆ ทั้งในระดับเล็กและระดับใหญ่ ก็สามารถถูกหยิบนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกผู้คนให้แตกแยก และสามารถบรรลุเป้าหมายหรือพิชิตเป้าหมายของกลุ่มคนที่ต้องการแบ่งแยกได้ ซึ่งสุดท้ายคือ การเข้ามาปกครองที่อาจรวมไปถึงการแผ่อิทธิพลทางความคิด จนกระทั่งความคิดนั้นมีอิทธิพลต่อสังคมส่วนใหญ่

 

การปกครองไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องของการควบคุมหรือสั่งการโดยตรงเท่านั้น หากเพียงแค่สามารถวิศวกรรมความคิดของคนในสังคมได้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม แค่นี้ก็ถือได้ว่าเป็นการปกครองโดยมุมมองความคิดของคนใดคนหนึ่งที่สามารถขยายชุดความคิดของตนไปสู่สังคม ซึ่งก็คือการพิชิตหรือการรุกฆาตความคิดของคนในสังคม และเมื่อกระทำสำเร็จแล้ว การปกครองบนพื้นที่ความคิดก็จะสามารถพัฒนาเป็นการปกครองบนพื้นที่จริงได้ในไม่ช้า

 

ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีการสื่อสารพื้นฐาน ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตของมนุษย์มากขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 คือ การพิสูจน์ถึงความน่าสะพรึงของหลักคิดแบ่งแยกและปกครอง เห็นได้จากการเกิดขึ้นของอุดมการณ์สุดโต่งทั่วโลก ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่มีอยู่ ผสมกับความคิดสุดโต่งที่ต้องการนำเสนอเพื่อพิชิตความคิดของประชาชนในประเทศให้ได้ ก่อนที่จะสามารถเข้ามาปกครองได้ในภายหลัง

 

ดังนั้น การปกครองจึงไม่จำเป็นว่า จะต้องเข้าไปมีอิทธิพลทางการเมืองโดยตรงเสมอไป เพียงแค่การเข้าถึงและสามารถขับเคลื่อนความคิดของคนส่วนใหญ่ในสังคมได้ ก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในการพิชิตและปกครองแล้ว เพราะสามารถเข้าถึงความคิดและยังสามารถขับเคลื่อนสังคมให้ดำเนินไปตามเส้นทางที่ตนต้องการ นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างสูง

 

สุดท้ายนี้ การที่มีประเด็นอะไรต่าง ๆ เข้ามาในหัว ถือว่าเป็นเรื่องปกติของการใช้ชีวิตในสังคมที่จะมีประเด็นเข้ามาในทุกวัน แต่ในหลายกรณี หากประเด็นเหล่านี้อยู่ ๆ ก็เป็นที่พูดถึงของสังคมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน และมีการกระพือให้เกิดการตึงเครียดในสังคมอย่างรุนแรงนั้น 

 

“แน่ใจหรือว่า นั่นไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการแบ่งแยกเพื่อปกครอง”

 

ลองพิจารณากันดู เพราะการเข้ามาของเทคโนโลยีการสื่อสารอย่างสื่อสังคมออนไลน์ ที่สามารถเผยแพร่ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงเทคโนโลยีการสื่อสารอื่นๆ นั้น การจะทำให้สังคมส่วนใหญ่แตกแยกและกลับมาต่อติดกันยาก ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริงและย่อมสร้างความเสียหายแก่สังคมภาพรวมได้ไม่น้อยเลยทีเดียว 

 

โดย ชย

 

#TheStructureColumnist

#การแบ่งแยก #ความขัดแย้ง #เทคโนโลยี

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า