
ที่มา จุดยืน และนโยบายของพรรคภูมิใจไทย ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2566:
พรรคภูมิใจไทยเกิดขึ้นจากการแยกตัวของ “กลุ่มเพื่อนเนวิน” และนักการเมืองอีกจำนวนหนึ่งที่เคยทำงานหรือมีความสัมพันธ์กับพรรคไทยรักไทย, พรรคพลังประชาชน และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เช่น อนุทิน ชาญวีรกุล, สมศักดิ์ เทพสุทิน, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, สุชาติ ตันเจริญ, อนุชา นาคาศัย, โสภณ ซารัมย์, ศุภชัย ใจสมุทร เป็นต้น โดยนักการเมืองบางคน ณ ที่นี้ ก็ได้ย้ายออกไปจากพรรคไปเข้าสังกัดอื่นแล้วในปัจจุบัน
ซึ่งได้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2551 มีนายพิพัฒน์ พรมวราภรณ์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก และมีนายมงคล ศรีอ่อน เป็นเลขาธิการพรรค ต่อมา ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2552 ได้มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ได้รับเลือกตั้งให้เป็นหัวหน้าพรรค โดยมีนางพรทิวา นาคาศัย เป็นเลขาธิการพรรค และได้มีการย้ายที่ทำการพรรคจากจังหวัดนนทบุรี มาตั้งอยู่ ณ ที่ทำการเลขที่ 2159/11 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2552 และในปัจจุบัน อนุทิน ชาญวีรกูล ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค
ในส่วนของจุดยืนทางการเมืองของพรรคภูมิใจไทยนั้น ได้มี 3 องค์ประกอบหลักคือ
1.) ความเป็น “อนุรักษนิยม” ที่ให้ความสำคัญในการรักษาสถาบันหลักและรากเหง้าของประเทศ เช่น การแสดงจุดยืนว่าจะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคที่ต้องการเปลี่ยนแปลงกฎหมายอาญา มาตรา 112
2.) มีความเป็น “ท้องถิ่นนิยม” (regionalism) และให้ความสำคัญในการกระจายอำนาจ จากการเป็นพรรคที่ประกอบด้วยนักการเมืองท้องถิ่นจำนวนมาก ที่มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาพื้นที่ของตนเอง
3.) มีนโยบายและการขับเคลื่อนทางการเมืองในเชิง “ประชานิยม” (populism) แต่ในขณะเดียวกันก็มีจุดยืนทางเศรษฐศาสตร์แบบทุนนิยมเสรี
รวมทั้งมีความเป็น “อิสระนิยม” (libertarianism) อยู่ในระดับหนึ่ง เห็นได้จากการเปิดกว้างในประเด็นต่าง ๆ ที่ชัดเจนที่สุดคือการทำให้กัญชาไม่ผิดกฎหมาย เป็นต้น และมีจุดยืนทางการเมืองแบบ “กลาง-ขวา” (center-right) ที่เน้นเรื่องอิสระทางการเมืองการปกครอง (ในเรื่องส่วนกลาง-ท้องถิ่น และเรื่องการบังคับใช้กฎหมายในบางประเด็น) และพยายามหาสมดุลระหว่างการแทรกแซงเศรษฐกิจด้วยสวัสดิการ และการปล่อยให้มีกิจการเสรี (laissez-faire, free enterprise)
โดยนโยบายการหาเสียงของพรรคภูมิใจไทยในครั้งนี้ ได้เน้นหนักไปที่การต่อยอดเศรษฐกิจของประเทศให้ดียิ่งขึ้น กระจายความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศออกสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น ผ่านนโยบาย “สร้างเศรษฐกิจด้วยเทศกาล” และ “รักษาเมืองหลัก พักฟื้นเมืองรอง” ซึ่งเป็นนโยบายที่สอดรับกับนโยบายเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างลงตัว
และภาพลักษณ์ที่โดดเด่นของภูมิใจไทยคือ นโยบายกัญชาเสรี อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ ได้ถูกตั้งคำถามจากสังคมบางส่วนในหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นการควบคุมมิให้ประชาชนถูกมอมเมาจากยาเสพติด ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่พรรคภูมิใจไทยไม่ได้นำเสนอนโยบายกัญชาเสรีอย่างชัดเจนมากนักในการเลือกตั้งครั้งนี้
อ้างอิง :
[1] ประวัติพรรคภูมิใจไทย
https://bhumjaithai.com/party/about
[2] ม้ามืดเป็นม้าเต็ง
http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ม้ามืดเป็นม้าเต็ง
[3] นโยบายพรรคภูมิใจไทย
https://bhumjaithai.com/policy
[4] “พรรคภูมิใจไทย” ออกนโยบายล่าสุด “กองทุนประกันชีวิต 60 ปีขึ้นไป” เป็นสวัสดิการใหม่ ที่รัฐบาลจะจัดให้แก่ประชาชนคนไทยทุกคน
https://mgronline.com/politics/detail/9660000014680
[5] ช้อปดีมีคืนภาค 2 พรรคภูมิใจไทยชงลดหย่อน VAT สูงสุด 1.5 แสนบาท