Newsเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างของการเลือกตั้ง พ.ศ.2562 และ พ.ศ.2566 ที่จะเกิดขึ้น

เปรียบเทียบความเหมือนและความต่างของการเลือกตั้ง พ.ศ.2562 และ พ.ศ.2566 ที่จะเกิดขึ้น

กระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทยในแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นมักจะมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละครั้ง โดยในการเลือกตั้งส่วนใหญ่มักจะเป็นการเลือกตั้งโดยใช้บัตรลงคะแนน 2 ใบ คือ บัตรลงคะแนนในระบบเขตและบัตรลงคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ ยกเว้นในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ที่จะใช้บัตรลงคะแนนเพียงใบเดียวเท่านั้น 

ซึ่งระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ถือได้ว่า เป็นมรดกสำคัญจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มีจุดประสงค์ให้ทุกคะแนนเสียงมีค่าและไม่ถูกทอดทิ้ง โดยการใช้ระบบแบบแบ่งสันปันส่วน เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงในระดับหนึ่งแต่ไม่สามารถชนะผ่านระบบเขตให้สามารถได้รับโอกาสของการได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผ่านระบบบัญชีรายชื่อแทน ซึ่งได้ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กและขนาดกลางได้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเป็นจำนวนมาก

แต่ระบบการเลือกตั้งในรูปแบบนี้กลับเป็นการทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่เสียเปรียบพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดย่อมค่อนข้างมากเนื่องจากระบบพึงมีในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ที่ใช้คะแนนจากบัตรใบเดียวในการกำหนดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมี ทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีคะแนนเสียงสูงและสามารถชนะในพื้นที่เขตต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมากนั้น แทบจะไม่สามารถได้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อได้เลย 

จึงทำให้เวลาต่อมา ได้มีการแก้ไขระบบการเลือกตั้งที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นระบบการเลือกตั้งที่คุ้นเคยมากขึ้น คือ ใช้ระบบบัตรลงคะแนนแบบ 2 ใบ ยกเลิกระบบพึงมี รวมทั้งมีการเพิ่มจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตจาก 350 คน เป็น 400 คน และลดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจาก 150 คน เป็น 100 คน ซึ่งได้กลายเป็นรูปแบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ.2566 ที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้

โดยหากมองระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 นั้น ก็จะพบว่า จะเน้นกระจายจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ครอบคลุมทุกพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงตามเงื่อนไขของระบบพึงมี ซึ่งเป็นการคำนวณจำนวนผู้ลงคะแนนเสียงและนำมาหารกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 500 คน เพื่อให้ได้ค่าตายตัวของระบบพึงมี

และนำคะแนนเสียงที่ได้รับทั้งหมดของพรรคการเมืองหนึ่ง ๆ มาหารกับค่าตายตัวในระบบพึงมีเพื่อใช้ในการคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีทั้งในระบบเขตและบัญชีรายชื่อ และจะมีการหักจำนวนพึงมีจากการเอาชนะในพื้นที่เขตต่าง ๆ ซึ่งหากยังเหลืออยู่ก็จะมีสิทธิ์ในการได้รับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจากระบบพึงมีตามจำนวนที่เหลืออยู่ 

ส่วนในกรณีที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากระบบเขตมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีก็จะไม่ถูกหักจากระบบเขตที่ได้รับแต่อย่างใด แต่ก็จะไม่ได้รับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเลย ซึ่งจะเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองที่ได้ตำแหน่งจากระบบเขตเป็นจำนวนมาก

ในขณะเดียวกันในระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 จะใช้ระบบการนับคะแนนแยกออกจากกัน คือ ระบบเขตและบัญชีรายชื่อ โดยระบบเขตก็จะเหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมารวมทั้งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ที่ใช้ระบบชนะเพื่อได้ทั้งหมดในเขตนั้น ๆ ในขณะที่ระบบบัญชีรายชื่อจะนำคะแนนเสียงจากใบลงคะแนนเสียงแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดจากพรรคการเมืองหนึ่ง ๆ ในการคำนวณบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองทั้งหมด

จากนั้นก็นำคะแนนเสียงแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดมาหารกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎรคือ 100 คน เพื่อให้ได้มาซึ่งจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ โดยในระบบนี้ พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่สามารถเอาชนะในพื้นที่เขตได้เป็นจำนวนมากและมีคะแนนเสียงแบบบัญชีรายชื่อในปริมาณจะได้เปรียบในกติกาใหม่นี้ เนื่องจากสามารถได้รับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อโดยไม่ต้องถูกหักอะไรทั้งสิ้น

ที่จะแตกต่างจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ.2562 ในเรื่องการคำนวณคะแนนเสียงทั้งหมดจะอิงตามคะแนนเสียงจากใบลงคะแนนเสียง 1 ใบ ที่รวมทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อไปในตัว ทำให้การเอาชนะในพื้นที่เขตได้เป็นจำนวนมาก อาจหมายถึง การหมดสิทธิ์การได้รับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และมีผลต่อพรรคการเมืองขนาดย่อมที่มีโอกาสเข้าถึงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อได้มากกว่า 

ทั้งนี้ หากมองในมุมที่คล้ายคลึงกันของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 และ พ.ศ.2566 จะเห็นได้ว่า การเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้ง อยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เหมือนกัน แต่ถ้ามองในมุมของความแตกต่างระหว่างการเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้งจะเห็นภาพได้ชัดกว่ามาก

อาทิ ในระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 จะมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตที่เพิ่มมากขึ้นและลดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อลง การใช้บัตรลงคะแนนเสียงแบบ 2 ใบ แทนที่แบบใบเดียว การนับคะแนนเสียงและคำนวณสูตรการเลือกตั้งที่ดูคุ้นเคยมากกว่า คือ การคิดคะแนนเสียงแบบแยกจากกันทั้งสองใบและการตัดระบบพึงมีออกไป ซึ่งแตกต่างจากระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 อย่างสิ้นเชิง

สุดท้ายนี้ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 และ พ.ศ.2566 ได้มีความคล้ายคลึงกันและแตกต่างกันอยู่พอสมควร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงกติกาการเลือกตั้งได้ทำให้ระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะเกิดขึ้นใน พ.ศ.2566 มีสภาพอย่างที่เข้าใจกันในสังคมภาพรวมและการเปลี่ยนแปลงกติกาการเลือกตั้งในครั้งนี้ย่อมส่งผลที่ตามมาต่อบริบทการเมืองไทยไม่มากก็น้อย

โดย ชย

อ้างอิง:

[1] ระบบเลือกตั้งเดิม กับ ระบบเลือกตั้งใหม่ แตกต่างกันอย่างไร?

https://www.springnews.co.th/feature/815559

[2] ฉลุยหาร 100-กาบัตร 2 ใบ ศาลชี้ พ.ร.ป.เลือกตั้งไม่ขัดรัฐธรรมนูญ นักเลือกตั้งเฮรอลงสนาม

https://www.thairath.co.th/news/politic/2567021

[3] หนึ่งใบเลว สองใบดี หลายพรรคเลว: เบื้องหลังข้อถกเถียงว่าด้วยระบบเลือกตั้ง

https://www.the101.world/behind-electoral-systems/

งานเขียนชิ้นนี้ หากสามารถทำเป็น Infographic ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ยิ่งครับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า