
“ไทยประดิษฐ์” ทักษะพิเศษของวิศวกรไทย ที่ไม่เหมือนใครในโลก
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นับจากวันที่ประเทศไทยของเราเริ่มก่อร่างสร้างตัว ดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนเปิดโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศ ผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 จนถึงวันนี้ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่แผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 13 มีนักลงทุนจากประเทศพัฒนาแล้วเข้ามาลงทุนในไทยจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งสิ่งที่พวกเข้านำเข้ามานั้น มิได้มีเพียงแค่การสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ให้แก่คนไทยเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งองค์ความรู้ และเทคโนโลยีอีกด้วย
การเข้ามาของนักลงทุนของชาติที่หลากหลาย มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่แตกต่าง ซึ่งในอดีตแบ่งออกเป็น 3 ค่ายใหญ่ ๆ คืออเมริกา, ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีมาตรฐานเป็นของตัวเองที่แตกต่างกัน โดยอเมริกาอ้างอิงมาตรฐาน ANSI (American National Standards Institute), ยุโรปอ้างอิงมาตรฐาน ISO (International Organization for Standardization) ในขณะที่ญี่ปุ่นอ้างอิงมาตรฐาน JIS (Japanese Industrial Standard)
ในประเทศต้นทางของพวกเขาเอง อ้างอิงมาตรฐานของตนเองมาตรฐานเดียวทั่วประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยของเรานั้น วิศวกรไทยต้องเผชิญหน้ากับทั้ง 3 มาตรฐานในประเทศของเราเอง
ถึงแม้ว่าประเทศไทยของเราจะมีมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก. หรือ TIS) เป็นของตัวเอง แต่ด้วยความที่เราเป็นประเทศผู้ใช้เทคโนโลยี วิศวกรไทยจึงจำเป็นจะต้องอ้างอิงมาตรฐานต่างชาติประกอบด้วยเสมอ อีกทั้งมาตรฐาน มอก. ของเราเองนั้น ก็คล้อยตามมาตรฐานต่างชาติ เพื่อให้สินค้าไทยได้รับการยอมรับจากทั่วโลกด้วย
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรที่บ้านเราส่วนใหญ่ใช้หน่วยการวัดขนาดเป็นเซนติเมตร หรือมิลลิเมตรตามอย่างยุโรป แต่สินค้าบางอย่าง เช่นท่อน้ำ เราใช้หน่วยวัดเป็นนิ้วตามอย่างอเมริกัน
ยิ่งพัฒนาการของเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้า และมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเข้ามาของเทคโนโลยีอัตโนมัติ สิ่งที่สร้างความปวดหัวให้วิศวกรไทยอย่างที่สุดก็คือ ระบบการสื่อสารระหว่างเครื่องจักรกล (M2M Interfacing) ซึ่งอุปกรณ์แต่ละค่าย มีมาตรฐานการจัดการระบบสื่อสารที่แตกต่างกัน
ในหลายกรณี โรงงานของชาวอเมริกัน ผู้ผลิตชาวอเมริกันมักจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีของตัวเอง แต่ในบางครั้ง มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีจากชาติอื่น ที่หาได้ง่ายกว่า และ/หรือราคาถูกกว่า ทำให้วิศวกรไทยต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในการจัดการกับการสื่อสารระหว่างเครื่องจักร (Complying)
ประสบการณ์จากความท้าทายนี้เอง ที่ทำให้วิศวกรไทยมีทักษะการจัดการกับระบบอัตโนมัติ (System Integration) ไปโดยปริยาย จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีอะไรที่วิศวกรไทย ประกอบไม่ได้ ทำไม่สำเร็จ และนี่คือทักษะพิเศษของคนไทยอย่างพวกเรา จนอาจกล่าวได้ว่า ความหลากหลายของโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีอุปกรณ์จากนานาชาติและมาตรฐานที่แตกต่าง ไม่ได้เป็นปัญหากับวิศวกรไทยและช่างไทยเลยแม้แต่น้อยดังจะเห็นได้จากการผุดขึ้นและสามารถพบเห็นได้ทั่วไปของโรงงานเหล่านี้ในเมืองไทย
ทักษะนี้ ถูกต่อยอดเข้าไปในกองทัพไทย ซึ่งแต่เดิมทีนั้น หากซื้อยุทโธปกรณ์จากชาติใด ก็จะต้องใช้อะไหล่ทดแทน หรือติดตั้งอุปกรณ์เสริมจากชาตินั้น ๆ เพียงอย่างเดียว แต่กองทัพไทยในปัจจุบัน ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเราสามารถประกอบระบบจากหลายค่าย หลายชาติเข้ามารวมกันในอุปกรณ์เดียว อะไหล่บางชิ้น เราผลิตได้เอง
สิ่งที่เคยสร้างความฮือฮาให้กับวงการทหารเรือทั่วโลกมาแล้ว คือการที่กองทัพเรือไทย ประสบความสำเร็จในการเชื่อมโยงระบบการสื่อสารข้อมูลจากสวีเดน เพื่อใช้ในการยิงขีปนาวุธจีน ด้วยเรือที่ผลิตโดยอเมริกา อีกทั้งล่าสุด เราสามารถผลิตยุทโธปกรณ์ทางทหารเพื่อการส่งออกได้เองอีกด้วย
อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ (Defence Industry) กำลังกลายเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ที่สร้างงาน สร้างรายได้เข้าประเทศไทยของเรา
นี่คือทักษะพิเศษของวิศวกรไทย ที่เกิดขึ้นจากการบ่มเพาะประสบการณ์ จากสภาพแวดล้อมที่จำเป็นจะต้องใช้ทุกสิ่งที่มีในมือให้ได้นั่นเอง
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยในวันนี้กำลังก้าวไปอีกขั้น เรากำลังจะเปลี่ยนตัวเองจากประเทศผู้ผลิตพื้นฐาน ขึ้นไปสู่ประเทศผู้ผลิตชั้นสูง และผู้พัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการบริการแห่งอนาคต ที่ต้องการทักษะการวิจัยและการพัฒนาเพื่อการพัฒนาประเทศ
จากเดิมที่เราเป็นประเทศผู้ได้รับการลงทุน เรากำลังพัฒนายกระดับเป็นประเทศผู้ลงทุน นำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของเราไปมอบให้ประเทศเพื่อนบ้าน เรามีบริษัทของคนไทยหลายบริษัท ไปลงทุนในหลายประเทศ อาทิเช่น ปตท, SCG, ไทยยูเนียน โฟรเซน, กลุ่ม CP และกลุ่มเซ็นทรัล
ประเทศไทยของพวกเรากำลังเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ดี ทักษะเฉพาะของวิศวกรไทย ที่เรียกได้ว่าเป็นรากฐานของวงการวิศวกรรม คือทักษะการพลิกแพลงประยุกต์ใช้ โดยอาศัยองค์ความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม บวกกับนิสัยที่เปิดกว้างยอมรับทุกสิ่งที่ดีกว่าของคนไทยเข้ามาประยุกต์ใช้ทั้งในชีวิตประจำวันและอาชีพการงาน จนเกิดเป็นคำ “ไทยประดิษฐ์”
สิ่งนี้จะเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของอุตสาหกรรมไทย ทั้งในด้านการผลิต และการวิจัยพัฒนาของคนไทยอย่างแน่นอน
โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร