Newsฮังการี ความสำเร็จของระบบภาษีที่นำไปสู่ การเป็นแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญของยุโรป

ฮังการี ความสำเร็จของระบบภาษีที่นำไปสู่ การเป็นแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญของยุโรป

ฮังการี ประเทศในยุโรปตะวันออกที่มีบทบาทเป็นแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญของยุโรปจากนิติบุคคลทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีรูปแบบของนโยบายภาษีที่แตกต่างจากประเทศส่วนใหญ่ ที่หากไม่ได้เก็บภาษีในระดับสูงและมีสวัสดิการรัฐที่หนาแน่นนั้น ก็จะเป็นประเทศที่มีการเก็บภาษีต่ำและไม่ได้ผูกมัดกับหน้าที่ของรัฐหรือสวัสดิการรัฐมากนัก ซึ่งเป็นแนวคิดการเก็บภาษีแบบเสรีนิยมใหม่

 

            แต่สิ่งที่ฮังการีทำ คือ ระบบการเก็บภาษีที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง 2 ระบบข้างต้น ซึ่งเป็นระบบที่ส่งเสริมแรงจูงใจการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจผ่านภาษีนิติบุคคล ภาษีทรัพย์สิน และภาษีบุคคลที่อยู่ในระดับต่ำ พร้อมการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในระดับสูง ที่มีต้นทุนการดำเนินนโยบายต่ำ เพื่อนำรายได้ส่วนนี้มาดำเนินนโยบายหน้าที่ของรัฐในการสนับสนุนสวัสดิการรัฐ โดยไม่เป็นภาระทางการเงินมากนัก

 

            เช่น ภาษีนิติบุคคลของฮังการีมีอัตราร้อยละ 9 ซึ่งถือเป็นอัตราภาษีนิติบุคคลที่ต่ำที่สุดในยุโรป และเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้นิติบุคคลต่างๆ เข้ามาลงทุนในประเทศเป็นจำนวนมาก โดยการลงทุนในแต่ละครั้งจะนำมาซึ่งเงินลงทุนจากภายนอก และตำแหน่งงานที่จะเป็นหลักประกันของการมีงานทำในประเทศ และหากการลงทุนนั้นอยู่ในกลุ่มของการลงทุนที่ถูกส่งเสริมจากรัฐ ก็จะได้รับสิทธิ์ด้านภาษีมากขึ้นไปอีก

 

            ไม่เพียงเท่านั้น ระบบภาษีบุคคลธรรมดาของฮังการียังใช้ระบบอัตราเดียว คือ ร้อยละ 15 ไม่ได้เป็นระบบขั้นบันไดเหมือนประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปแต่อย่างใด และถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วที่จะมีระบบภาษีแบบขั้นบันไดและมีอัตราสูงสุดที่สูงกว่าอยู่มาก

 

             อีกด้านหนึ่ง ฮังการีกลับมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดว่าสูงที่สุดในยุโรปเช่นกัน คือ ร้อยละ 27 แต่จะมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มแบบพิเศษสำหรับสินค้าและบริการพื้นฐาน คือ ร้อยละ 5 และ 18 ตามลำดับ ตามประเภทของสินค้าและบริการนั้นๆ

 

รวมทั้งมีภาษีประกันสังคมในระดับสูงตามค่าเฉลี่ยของประเทศส่วนใหญ่ในยุโรป เพื่อนำเม็ดเงินดังกล่าวมาใช้ในด้านสาธารณสุข ระบบบำนาญและประกันการว่างงาน โดยจะเป็นการสมทบระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง

 

            ด้วยนโยบายภาษีแบบนี้ จึงทำให้ฮังการีเป็นประเทศที่มีแรงดึงดูดการลงทุนจากประเทศต่างๆ เพราะฮังการีเป็นสมาชิกในสหภาพยุโรปที่มีสถานะเป็นสหภาพทางเศรษฐกิจ ทำให้สามารถเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรจำนวนมากได้ โดยไม่จำเป็นต้องเสียภาษีนิติบุคคลในระดับที่สูงเหมือนประเทศส่วนใหญ่ในสหภาพยุโรป และฮังการียังมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนในประเทศที่จริงจังประกอบกันอีกด้วย

 

            ทั้งหมดนี้จึงทำให้ฮังการีมีสถานะไม่ต่างจากโรงงานอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรป เป็นประเทศที่เข้าถึงตลาดของยุโรป และยังสามารถดำเนินนโยบายสนับสนุนพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศที่มีหลากหลายระดับตามความจำเป็น ผ่านการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นภาษีหลักของฮังการี ซึ่งเป็นการทลายจุดอ่อนของระบบการเก็บภาษีแบบเสรีนิยมใหม่และระบบการเก็บภาษีในระดับสูงเพื่อทำรัฐสวัสดิการแบบหนาแน่นไปในเวลาเดียวกัน

 

            หัวใจสำคัญของระบบภาษีแบบฮังการี คือ การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันและเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่คล่องตัว สะดวก และมีกฎเกณฑ์น้อย เพื่อให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หนาแน่น และสามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ในระดับสูง จนกลายเป็นประเทศที่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในระดับที่สูงติดอันดับต้นๆ ของยุโรป และนำมาใช้ในโครงการของรัฐที่ต้องการจะผลักดันให้เกิดขึ้นจริง

 

            ดังนั้น กรณีของฮังการีจึงเป็นการสะท้อนถึงประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่มในบางประเทศ ที่ถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งในสังคม โดยเฉพาะในเรื่องความสำคัญของ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” จากการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และข้อกังขาถึงการเอารายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มไปใช้โดยภาครัฐในฐานะภาษีของพวกเขา ทั้งที่อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในบางประเทศก็ไม่ได้สูงมากนัก รวมทั้งยังมีภาษีทางตรงจำพวกภาษีบุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลที่มีความสำคัญในระดับพอๆ กัน และหากจะยกระดับให้ภาษีมูลค่าเพิ่มมีความสำคัญยิ่งขึ้นไปอีก บางที ระบบภาษีแบบฮังการีอาจเหมาะกับคุณก็ได้

 

            เพราะระบบภาษีแบบฮังการีนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่มและประกันสังคม คือ องค์ประกอบสำคัญของระบบภาษีในรูปแบบนี้ ที่สามารถนำภาษีประกันสังคมมาใช้สนับสนุนสวัสดิการรักษาพยาบาล บำนาญ และสิทธิ์การว่างงาน รวมทั้งได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐในเรื่องต่างๆ เช่น การได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐเมื่อมีบุตรในระดับหนึ่ง และการสนับสนุนอื่นๆ จากภาครัฐ

 

            ในขณะที่ภาษีนิติบุคคลมีอยู่ในระดับต่ำ ภาษีบุคคลธรรมดามีอยู่อัตราเดียว และมีโครงการส่งเสริมการลงทุนเข้ามาในประเทศจากภาครัฐผ่านการให้สิทธิทางภาษีต่างๆ เหล่านี้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการแข่งขันทางเศรษฐกิจในสังคม และเพิ่มโอกาสของการมีงานทำได้มากขึ้น

 

            สุดท้ายนี้ ระบบภาษีของแต่ละประเทศก็มีจุดเด่นและจุดด้อยแตกต่างกันไป ทั้งรูปแบบรัฐสวัสดิการเข้มข้นที่มีการเก็บภาษีในระดับสูงทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น รูปแบบรัฐเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจที่มีการเก็บภาษีในระดับต่ำและเน้นการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ที่แทบไม่มีสวัสดิการรัฐให้ และรูปแบบตรงกลางที่มีสวัสดิการรัฐให้บางส่วน และก็ไม่ได้เก็บภาษีสูงมากนักในบางประเภทแบบฮังการี

 

“สนใจและชอบแบบไหน ก็เอาตามความชอบของผู้อ่านเลย”

 

โดย ชย

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า