
ทำความรู้จักพรรคเพื่อไทยก่อนการเลือกตั้งปี 2566 ที่นำทัพโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
พรรคไทยสร้างไทย
Candidate นายกคนสำคัญ: คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
.
ที่มา
มีที่มาจากกลุ่มการเมือง “ไทยสร้างไทย” ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ได้แยกตัวมาจากพรรคเพื่อไทย หลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2562 ซึ่งได้ก่อตั้งเป็นพรรคการเมืองในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2564 โดยเริ่มดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2564 แม้จะเป็นพรรคตั้งใหม่แต่ก็มีฐานการเมืองอยู่แต่เดิมแล้ว ซึ่งคือผู้ที่นิยมชมชอบในตัวของคุณหญิงสุดารัตน์
.
โดยบทบาททางการเมืองแรกของพรรคไทยสร้างไทยคือ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2565 ซึ่งมีตัวแทนผู้สมัคร คือ นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี ที่แม้จะพลาดตำแหน่งผู้ว่า กทม. แต่ทางพรรคก็ยังสามารถคว้าตำแหน่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครมาได้ 2 ที่นั่ง จากการเลือกตั้งครั้งนั้น
.
จุดยืน
เนื่องจากเป็นพรรคที่มาจากการแยกตัวออกของนักการเมืองกลุ่มย่อยที่เคยอยู่พรรคเพื่อไทย ในทางจุดยืนและการขับเคลื่อนนโยบายจึงมีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น มีการเน้นไปที่ตัวบุคคลนั่นก็คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค เป็นหลัก
.
ในประเด็นด้านการเมืองและสังคม ถือเป็นพรรค “กลาง-ขวา” (center-right) ที่มีจุดยืนต่อต้านอำนาจนิยมและการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองของทหารและกองทัพ ส่วนท่าทีในประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น พรรคไทยสร้างไทยต้องการให้รัฐสภาเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน
.
ด้านเศรษฐกิจ มีนโยบายที่เน้นไปเรื่องการสนับสนุนประชาชน “คนตัวเล็ก” ดังนั้นอาจเรียกได้ว่ามีความเป็น “ประชานิยม” (populism) โดยใช้การแทรกแซงทางเศรษฐกิจเพื่อให้มีสวัสดิการรัฐแก่ประชาชน ซึ่งเป็นอีกจุดยืนที่มีความคล้ายคลึงกับพรรคเพื่อไทย
.
จุดยืนที่มีความเฉพาะตัวหนึ่งของพรรคนี้นั้นคือการมีเป้าหมาย “ส่งต่อ” ให้คนรุ่นหลัง มีความพยายามในการสร้างพลัง (empower) คนรุ่นใหม่ในการทำการเมือง
.
นโยบาย
หากพิจารณาจากป้ายหาเสียงของพรรคไทยสร้างไทย พรรคดูจะเน้นการขายภาพคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และมีลักษณะที่เน้นการสื่ออารมณ์เป็นหลัก แต่เมื่อพิจารณาถึงตัวนโยบายแล้ว พรรคเน้นหนักไปทางด้านสวัสดิการสังคม โดยเฉพาะการเน้นชูนโยบาย “บำนาญประชาชน” เป็นหัวหอกสำคัญ
.
ที่น่าสนใจคือ นโยบาย “เศรษฐกิจเพื่อคนตัวเล็ก” ที่พรรคเคยยกชูในช่วงแรก ๆ ของการก่อตั้งนั้น ไม่ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง ซึ่งนี่อาจเป็นผลมาจากความล้มเหลวของพรรคในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่ผ่านมา และมีน้ำหนักสูงมาก เนื่องจากพรรคกล้าที่เคยยกชูนโยบายนี้ และล้มเหลวในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. และการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา ก็ไม่พูดถึงนโยบายนี้อีกเลยเช่นกัน