ArticlesLiberal Hegemony ทำไมประเทศที่อ้างประชาธิปไตย ถึงชอบแทรกแซงกิจการของชาติอื่น

Liberal Hegemony ทำไมประเทศที่อ้างประชาธิปไตย ถึงชอบแทรกแซงกิจการของชาติอื่น

ทำความรู้จัก Liberal Hegemony ไขคำตอบ : “ทำไมประชาธิปไตยชอบยุ่งเรื่องชาวบ้าน”

 

หลังจากมีรายงานข่าวเกี่ยวกับการประหารชีวิตนักกิจกรรมการเมืองพม่า 4 คน ซึ่งรัฐบาลทหารของพม่าได้กล่าวหาว่า “ช่วยเหลือกลุ่มติดอาวุธสู้รบกับกองทัพ” โดยมีการตัดสินประหารชีวิตด้วยความผิด “ภายใต้กฎหมายต่อต้านก่อการร้ายและประมวลกฎหมายอาญา” ของประเทศพม่า [1] จากนั้นไม่นานผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุคส่วนตัวซึ่งมีเนื้อหา “เรียกร้องรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ให้หยุดคบหา หยุดให้ความสนับสนุน และ กดดันรัฐบาลทหารเมียนมาร์ ให้ยุติการประหารชีวิตประชาชนผู้เห็นต่างจากรัฐบาล และคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว!” [2]

 

แน่นอนว่าหากติดตามการแสดงท่าทีของ ผศ.ปริญญา เกี่ยวกับประเด็นทางสังคม-การเมืองต่าง ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าเขาเป็นหนึ่งในนักวิเคราะห์-นักวิชาการจำนวนมาก ที่มีท่าทีไม่ยอมรับหรือเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาอยู่ตลอด

 

และเนื้อหาในโพสต์ดังกล่าว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ภายในของต่างประเทศ และไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการภายในและผลประโยชน์ของประเทศไทยนั้น ผศ.ปริญญากลับสามารถนำมันมาใช้เป็นประเด็นในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ได้ อย่างไรก็ตาม มุมมองและจุดยืนนี้อาจกล่าวได้ว่า ถือเป็นเรื่องปกติของ ผศ.ดร.ปริญญา และไม่ใช่ประเด็นหลักที่จะนำมากล่าวถึง

 

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ความเห็นของผศ.ดร.ปริญญา แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการขับเคลื่อนการเมืองด้วยแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย และการนำประเด็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ในต่างประเทศมาเชื่อมโยงกัน ตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้น เช่น การชุมนุมประท้วงหลายครั้งในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการโบกธงของขบวนการแบ่งแยกดินแดนทิเบต, อุยกูร์, ฮ่องกง, และไต้หวัน [3] ทั้งที่เราอาจจะกล่าวได้ว่าเหตุการณ์ในเขตแดนเหล่านั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองของไทยเลยแม้แต่น้อย

 

นี่จึงเป็นสาเหตุที่ควรจะมีการตั้งคำถามว่า ทำไมประชาธิปไตยนั้นดูเหมือนจะมีนิสัย “เข้าไปยุ่งเรื่องชาวบ้าน” อยู่ตลอด ทั้งในระดับบุคคลและระดับประเทศ : ทำไมนักวิชาการ, นักกิจกรรมการเมือง, หรือนักวิจารณ์การเมืองกลุ่มหนึ่ง ถึงชอบที่จะดึงประเด็นในต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเด็นภายในประเทศ

 

รวมทั้งยังเป็นจุดเริ่มในการตั้งคำถามได้ด้วยว่า ทำไมประเทศมหาอำนาจตะวันตก อย่าง สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, หรือประเทศในยุโรปต่าง ๆ จึงมีความพยายามอย่างมากในการแทรกแซงกิจการภายในของต่างประเทศทั่วโลกในนามของ “ประชาธิปไตย”?

 

หนึ่งในสิ่งที่นักวิชาการด้านทฤษฎีรัฐศาสตร์ได้วิเคราะห์ออกมานั้น อาจจะเป็นคำตอบของคำถามนี้ โดยคำตอบดังกล่าวปรากฏอยู่ในแนวคิดที่เรียกว่า liberal hegemony อาจแปลเป็นไทยได้ว่า “ภาวะความเป็นมหาอำนาจแนวเสรีนิยม” (หรือ “อำนาจนำแบบเสรีนิยม”)

 

โดยหนึ่งในนักวิชาการหลักที่นำเสนอแนวคิดนี้ก็คือ ศ.จอห์น เมิร์ชไฮม์เมอร์ (John Mearsheimer) แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) ซึ่งเขาได้เสนอไว้ในหนังสือ The Great Delusion: Liberal Dreams and International Realities และในปาฐกถาปี ค.ศ. 2017 ณ มหาวิทยาลัยเยล (Yale University ; ซึ่งสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยเยลเป็นผู้พิมพ์หนังสือ The Great Delusion)

 

เขาได้กล่าวสรุปไว้ถึง “นิสัย” หรือแนวโน้ม (tendency) โดยเฉพาะในนโยบายและการดำเนินกิจการการเมืองระหว่างประเทศ ของประเทศมหาอำนาจเสรีประชาธิปไตย ในการเข้าแทรกแซงรัฐเอกราชอื่น ๆ ทั่วโลก โดยสามารถกล่าวอย่างสรุปได้ดังต่อไปนี้ [4]

 

แนวคิดเสรีนิยม (liberalism) นั้นตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า

  • ความเป็นปัจเจกของมนุษย์นั้นมีความสำคัญที่สุด กล่าวคือ โดยพื้นฐานแล้วมนุษย์นั้นมีความเป็นปัจเจกบุคคลที่เป็นเอกเทศ มากกว่าจะเป็น ‘สัตว์สังคม’ ที่มองถึงส่วนรวมเป็นหลัก
  • สังคมนั้นพัฒนาขึ้นมาจากการที่ปัจเจกบุคคลเข้าร่วมกัน ‘ตกลง’ หรือ ‘ทำสัญญา’ ร่วมกันเพื่อประโยชน์ของแต่ละปัจเจก
  • การรวมตัวกันนั้นสามารถทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างปัจเจกได้ โดยเฉพาะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากความเห็นต่างเกี่ยวกับ “หลักการขั้นแรก” (first principle) นั้นคือ ประเด็นทางศีลธรรม (morality) ว่าอะไรดี-อะไรไม่ดี

 

โดยแนวคิดเสรีนิยมเสนอวิธีแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากสภาวะเช่นนี้ ด้วยการให้อำนาจรัฐเพื่อ

  • ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่มิอาจพรากไปจากแต่ละปัจเจกบุคคลได้ (inalienable rights)
  • สนับสนุนให้มีความอดทนอดกลั้น (tolerance) ในความเห็นต่างภายในสังคม
  • ไม่เข้าแทรกแซงกิจกรรม หรือกิจการใด ๆ ของปัจเจกบุคคล (เรียกหลักการนี้ว่า “รัฐเฝ้ายาม” หรือ night-watchmen state)

 

ซึ่งหนึ่งในข้อสังเกตที่อาจให้คำตอบเกี่ยวกับ แนวโน้มในการเข้าแทรกแซงการเมืองต่างประเทศของแนวคิดเสรีนิยมนั้น ศ.เมิร์ชไฮม์เมอร์ อธิบายว่า สามารถกล่าวได้ว่ามีรากฐานมาจากแกนของแนวคิดเสรีนิยมนั้นเอง ซึ่งเขากล่าวไว้ว่า “การเน้นไปถึงสิทธิของปัจเจกของพวกเขาและเธอทั้งหลายนั้น ทำให้เสรีนิยมกลายมาเป็นแนวคิดที่พยายามเป็นสากล (universalist ideology)”

 

ความพยายามในการแผ่ขยายให้คุณค่าและหลักการต่าง ๆ ของแนวคิดเสรีนิยมกลายมาเป็นแนวคิดสากลนี้เอง ที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้ประเทศมหาอำนาจที่ยึดถือแนวคิดนี้นั้น มีนโยบายต่างประเทศที่พยายามเข้าแทรกแซงกิจการของต่างประเทศ

 

โดยในปาฐกถาวันถัดมา (ปาฐกถาของศ.เมิร์ชไฮม์เมอร์ ณ มหาวิทยาลัยเยลนั้นมีขึ้น 3 ช่วงในระยะเวลา 4 วัน) [5] ศ.เมิร์ชไฮม์เมอร์ได้ขยายความถึง ‘คำโฆษณา’ ของการดำเนินนโยบายต่างประเทศบนรากฐานแนวคิดเสรีนิยมไว้ว่า

  • จะขยายการปกป้องสิทธิมนุษยชน (human rights) ไปทั่วโลก
  • จะทำให้เกิดสันติภาพระหว่างประเทศ (หรือที่เรียกว่า “ทฤษฎีสันติภาพจากประชาธิปไตย” ; democratic peace theory)
  • จะเป็นการปกป้องแนวคิดเสรีนิยมที่มีอยู่ภายในประเทศจากแนวคิดอื่นๆ ที่จะมาทำลาย (ตัวอย่างเช่น แนวคิดคอมมิวนิสต์ ; ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Red Scare ในประเทศตะวันตก)

 

อย่างไรก็ตาม ศ.เมิร์ชไฮม์เมอร์ ซึ่งเป็นนักทฤษฎีรัฐศาสตร์ด้านการเมืองระหว่างประเทศในสำนักสัจนิยม (realism ; หรือบางครั้งเรียกว่า “สภาพจริงนิยม”) ได้วิพากษ์วิจารณ์ ‘คำโฆษณา’ เหล่านี้ไว้ว่าเป็น “คำสัญญาลวงของมหาอำนาจเสรีนิยม” (false promise of liberal hegemony)

 

 เพราะหากพิจารณาถึงผลลัพธ์ของการดำเนินนโยบายบนรากฐานความคิดนี้ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อันใกล้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงการเมืองในตะวันออกกลาง หรือกระทั่งการแทรกแซงและชักใยการเมืองในยุโรปตะวันออกต่อรัสเซีย เราจะเห็นได้ว่าไม่ได้ทำให้เกิดผลลัพธ์ตามที่ตั้งเอาไว้

 

ในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน การแทรกแซงของตะวันตกทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลางนั้น เต็มไปด้วยประเทศพันธมิตรของมหาอำนาจตะวันตก ที่มีระบอบการปกครองแบบเผด็จการ หรือในยูเครน หลังจากที่สหรัฐฯ สนับสนุนรัฐประหารแล้วทำการตั้งรัฐบาลใหม่ ก็ทำให้เกิดรัฐบาลที่มีแนวโน้มแบบขวาจัด เกิดกองกำลังที่มีแนวคิดฟาสซิสม์และนาซีใหม่ เกิดการละเมิดสิทธิมนุษย์ชนต่าง ๆ มากมายในสังคมยูเครน หรือในเรื่องสันติภาพโลก

 

เราจะเห็นได้ว่าการเข้าแทรกแซงเพื่อแผ่ขยายลัทธิแนวคิดเสรีนิยมนั้น เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง และความตึงเครียดทางการเมืองและการทหารระหว่างประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะระหว่างมหาอำนาจในภูมิภาคต่าง ๆ

 

จากข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เราจะเห็นได้ว่าตัวแนวคิดเสรีนิยมเอง และการส่งออกแนวคิดโดยประเทศเสรีนิยม ในกรอบของแนวคิด liberal hegemony นั้น สามารถเป็นตัวไขคำตอบและอธิบาย ‘นิสัย’ การชอบเข้าแทรกแซงการเมืองต่างประเทศ หรือเข้าไป ‘ยุ่งเรื่องชาวบ้าน’ ของผู้ที่มีแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย ทั้งในระดับบุคคล อย่างกรณีของผศ.ปริญญา และเหตุการณ์โบกธงต่างประเทศในการประท้วงที่ผ่านมาในไทย และยังอธิบายในระดับรัฐ คือการที่มหาอำนาจตะวันตก มีความพยายามในการเข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในนามของสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ และประชาธิปไตย

 

ไม่ว่าแนวคิดเสรีนิยมนั้นจะถูกยึดถือว่าเป็นแนวคิดที่ยังประโยชน์ในมนุษย์และสังคม ที่ยึดถือแนวคิดนั้น ๆ การ “เข้าแทรกแซง” อธิปไตยของต่างประเทศนั้น ยังเป็นหนึ่งในสิ่งที่ก่อให้เกิดผลเสีย ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงที่เกิดจากแนวคิดหรือหลักการที่ดีก็ตาม ทั้งนี้จึงขอทิ้งท้ายคำพูดของศ.เมิร์ชไฮม์เมอร์ เกี่ยวกับความสำคัญของอธิปไตยไว้ดังนี้ [5]

 

“ลองคิดกันดูถึงความไม่พอใจอย่างมากของสหรัฐฯ ต่อข้อกล่าวอ้างว่า รัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งในปี 2016 จากการอ่านหนังสือพิมพ์จะเห็นได้ว่า ความคิดที่ว่ารัสเซียเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งของพวกเรานี้ ทำให้คนอเมริกันเกรี้ยวกราดมาก แต่จริง ๆ แล้ว เรานั้นแทรกแซงการเลือกตั้งไปทั่วโลก เราแทรกแซงการเมืองในรัฐต่าง ๆ ทั่วโลก เราคิดว่าเรามีสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ชอบธรรมในการไปยังประเทศใด ๆ ก็ได้ และละเมิดอธิปไตยของพวกเขา หากมันเป็นการทำเพื่อ ‘เป้าหมายที่ชอบธรรม’ นั้นก็คือการสนับสนุนเสรีนิยมประชาธิปไตย

เรามีประวัติศาสตร์มากมายในเรื่องนี้ คุณก็รู้กันอยู่ แต่เหมือนที่แม่ผมสอนผมตอนที่ยังเป็นเด็กว่า ‘What’s good for the goose is good for the gander.’ (อะไรที่ดีกับห่านตัวผู้ก็ดีกับห่านตัวเมีย) ถ้าเราโกรธแค้นอย่างมากในประเด็นเรื่องอธิปไตย คุณไม่คิดหรือว่าผู้คนในประเทศอื่นก็จะรู้สึกเหมือนกัน?”

อ้างอิง :

[1] รายงานข่าว “สุดโหด! พม่าประหารนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย 4 ราย ฐานความผิดช่วยก่อการร้าย” จาก เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์

[2] โพสต์จากเฟสบุคส่วนตัวของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล (Prinya Thaewanarumitkul)

[3] บทความข่าว ““ก่อการร้าย”! นักวิชาการ จวก “โบกธงอุยกูร์” จำได้มั้ย 20 ศพ “ไพศาล” ชี้ “3 นิ้ว” ผิดมหันต์ ชู “ปฏิรูปสถาบัน”” จาก เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์

[4] ปาฐกถาเฮนรี แอล. สติมสัน เรื่องกิจการโลก (Henry L. Stimson Lectures on World Affairs) หัวข้อ “รากฐานของมหาอำนาจเสรีนิยม” (The Roots of Liberal Hegemony) โดย จอห์น เจ. เมิร์ชไฮม์เมอร์ (John J. Mearsheimer) จากยูทูปของมหาวิทยาลัยเยล (Yale University)

[5] ปาฐกถาเฮนรี แอล. สติมสัน เรื่องกิจการโลก (Henry L. Stimson Lectures on World Affairs) หัวข้อ “คำสัญญาลวงของมหาอำนาจเสรีนิยม” (The False Promise of Liberal Hegemony) โดย จอห์น เจ. เมิร์ชไฮม์เมอร์ (John J. Mearsheimer) จากยูทูปของมหาวิทยาลัยเยล (Yale University)

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า