
Here We Go (65) เล่าพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ถอดบทเรียน การเลือกตั้งล่วงหน้า กับการปั่นกระแสโซเชียล ชี้ตัวแปรการจับขั้วรัฐบาลใหม่ และอำนาจต่อรองเพื่อไทย
ก่อนจะไปลุ้นการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลอยากจะพูดถึงการเสด็จพระราชดำเนินเยือนอังกฤษของในหลวงและราชินีเพื่อเข้าร่วมพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งราชวงศ์อังกฤษเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นโบราณราชประเพณีที่สืบทอดกันมากว่า 1,000 ปี มีคนทั่วโลกร่วมรับชมราว 14 ล้านคน
สะท้อนถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ของอังกฤษที่อยู่คู่กับชาวอังกฤษมาตลอด เป็นความภาคภูมิใจในวัฒนธรรม ประเพณีและสัญลักษณ์ของประเทศ ความโดดเด่นของในหลวงและราชินีจากประเทศไทยได้รับการชื่นชมจากคนทั่ว
โลกเห็นได้จากจำนวนครั้งที่เข้าไปชมภาพการเสด็จพระราชดำเนินของทั้ง 2 พระองค์ในสื่อโซเชียลเกือบ 1 ล้านครั้งเพียงแค่ใน 2 วันเท่านั้น สมเด็จพระราชินีได้รับการยกย่องว่าทรงฉลองพระองค์ได้สง่างาม มีพระสิริโฉมงดงามในอันดับต้นๆ ของประมุขต่างประเทศที่เข้าร่วมงาน
ผ้าไหมไทย เครื่องประดับฉลองพระองค์เป็นของไทยเอง มีความสวยงาม เก่าแก่ล้ำค่า ไม่ด้อยกว่าชาติใดในโลก แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมของไทยที่ดำรงอยู่ต่อเนื่องมายาวนานและยังคงความทันสมัยอยู่
แต่ที่ปลาบปลื้มอิ่มเอมใจมากที่สุดไม่พ้นคนไทยที่อยู่ในอังกฤษ เมื่อรู้ว่าจะได้เฝ้ารับเสด็จที่โรงแรมที่ประทับ ที่เป็นผู้ใหญ่วัย Gen X ขึ้นไปต่างไปรื้อชุดไทยที่มีอยู่แต่งตัวมารับเสด็จอย่างงดงามและภาคภูมิใจ
วัยที่ต่ำลงกว่านั้นจนถึงน้องๆ นักเรียน นักศึกษา ต่างสวมใส่ชุดสุภาพเท่าที่หาได้มาเฝ้ารับเสด็จอย่างใกล้ชิด ทุกคนต่างนึกไม่ถึงว่าทั้ง 2 พระองค์ทรงพระราชทานความเป็นกันเอง ไม่ได้มีพิธีรีตองที่ทำให้ต้องรู้สึกห่างไกลกัน คนไทยบางคนนำตุ๊กตาหมีแพดดิงตันที่กลายมาเป็นตุ๊กตาสัญลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษถวายแด่ทั้ง 2 พระองค์ ทรงอุ้มอย่างทะนุถนอม และรับสั่งว่าจะพากลับบ้านด้วย ทำให้คนไทยที่เข้าเฝ้า
ปลาบปลื้มยิ่งนัก คำตรัสสั้นๆ ต่อคนไทยที่มาเฝ้ารับเสด็จว่า “ขอบคุณมาก” เท่านี้ก็ทำให้ทุกคนน้ำตารื้นด้วยความตื้นตัน ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรของพระองค์จริงๆ ไม่ว่าจะอยู่ในไทยหรือไม่ก็ตาม แม้แต่โรงแรมที่ประทับพระองค์ทรงเลือกที่จะพักห้องสวีทแบบธรรมดาของโรงแรมแลนด์มาร์ค ที่เป็นธุรกิจของคนไทยอีกด้วย เป็นที่ซาบซึ้งใจของคนไทยในอังกฤษยิ่งนัก
—–
ขณะที่บ้านเราคนไทยทั่วประเทศคงกำลังลุ้นผลการเลือกตั้งอย่างใจจดใจจ่อ คณะกรรมการเลือกตั้งก็น่าจะหัวหมุนจากเรื่องร้องเรียนต่างๆ ปัญหาที่เกิดตอนเลือกตั้งล่วงหน้ายังไม่ทันจางหายไป ปัญหาใหม่ตามเข้ามาอีกแล้ว
วันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้ามีผู้มาใช้สิทธิสูงถึง 91% คณะกรรมการเลือกตั้งออกมายอมรับข้อผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์หรือในภาษาของคนทำงานเรียกว่า Human error เกิดขึ้นในทุกระบบการทำงาน ไม่ใช่ข้อผิดพลาดที่เกิดจากระบบ
ว่าง่ายๆ คือ กรรมการเลือกตั้งกำลังบอกว่าทุกอย่างวางเป็นระบบไว้ดีแล้ว เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีเจตนาทำทุจริต อาจบกพร่อง เข้าใจผิดหรือเลินเล่อ ความเสียหายเกิดขึ้นน้อยมากๆเป็นที่ยอมรับได้
น่าสนใจตรงที่มีการปั่นสื่อโซเชียลออกมาโจมตีคณะกรรมการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเหมือนนัดกันไว้ มีการล่ารายชื่อทางโซเชียลให้ถอดถอนคณะกรรมการเลือกตั้งมากกว่า 1 ล้านรายชื่อ ได้เยอะกว่าตอนเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียอีก
สะท้อนว่าโลกออนไลน์ไม่พอใจการทำหน้าที่ของคณะกรรมการเลือกตั้ง ทำแบบนี้หากผลการเลือกตั้งไม่ออกมาตามที่โซเชียลโพลปูพรมมาก่อนหน้าวันเลือกตั้งสัก 2 สัปดาห์ หมายความว่า รัฐใช้อำนาจโกงการเลือกตั้งเอื้อให้พรรคใดพรรคหนึ่ง อันนี้ก็เขียนแปะข้างฝาแบบคาดเดาไว้ล่วงหน้าก่อน
—–
ที่ต้องติดตามต่อไปคือการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาล คงต้องดูพลังอำนาจต่อรองของพรรคเพื่อไทยก่อน จะได้เห็นกันตอนนี้ว่าใครมีอำนาจสูงสุด ใครเสียงดัง ใครคือเสียงชี้ขาดตัวจริงของพรรค อยู่ในไทยหรืออยู่แดนไกล
อย่าลืมว่าคณะกรรมการเลือกตั้งยังสามารถเอาผิดถึงขั้นยุบพรรคกับพรรคการเมืองที่ยอมให้คนต่างชาติที่ไม่ใช่สมาชิกชี้นำครอบงำได้ ไม่ว่าคนนั้นจะมีชื่อเป็นคนไทยแต่อยู่นอกประเทศ หรือแม้แต่คนต่างชาติที่อยู่ในไทย จะมาชี้นำจูงใจให้พรรคนั้น รวมกับพรรคนี้จัดตั้งเป็นรัฐบาลก็ทำไม่ได้ ไม่ว่าประเทศไหนก็ไม่ต้องการให้คนต่างประเทศเข้ามาเจ้ากี้เจ้าการกับการเมืองในประเทศของตน
แม้ว่าการล่าอาณานิคมโดยใช้กำลังทางทหารได้หมดยุคสมัยไปแล้ว แต่การใช้วิธีการแทรกแซงทางการเมืองของประเทศมหาอำนาจเพื่อคุมทิศทางการเมืองของประเทศนั้นๆ ให้ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจไม่ว่าจะเป็นหลักลัทธิ หลักนิยมทางการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร การค้า การลงทุน ยังคงมีอยู่ในขณะนี้
ขึ้นอยู่กับว่านักการเมือง พรรคการเมืองของประเทศนั้น ยอมให้เขาเข้ามาแทรกแซงหรือไม่ เหมือนประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาที่แตกเพราะคนไทยเปิดประตูเมืองให้ต่างชาติเข้ามาเอง