NewsGDP ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจกับข้อเท็จจริงมากมายที่ซ่อนไว้อยู่ในตัวชี้วัดนี้

GDP ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจกับข้อเท็จจริงมากมายที่ซ่อนไว้อยู่ในตัวชี้วัดนี้

ตัวชี้วัดหนึ่งที่มักถูกพูดถึงบ่อยครั้งโดยสังคมไทย โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ คือ GDP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ใช้ประเมินผลผลิตทางเศรษฐกิจทั้งหมดในประเทศทั้งกิจการเศรษฐกิจที่เป็นของสัญชาติไทยและกิจการสัญชาติต่างประเทศ หรือกิจการข้ามชาติ และเป็นตัวชี้วัดที่มักนิยมใช้ในทางเศรษฐกิจมหภาคแทบทั่วโลกโดยเฉพาะเมื่อต้องการทราบสถิติการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม อำนาจการซื้อโดยรวม รวมทั้งรายได้เฉลี่ยต่อหัว ต่างก็มีที่มาจากตัวชี้วัดนี้เป็นส่วนใหญ่

แต่หากมองข้อเท็จจริงลงไป ก็จะพบว่าตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจนี้มีความกว้างในการประเมินเศรษฐกิจและสามารถแตกออกมาเป็นตัวชี้วัดย่อย ๆ ได้มากมาย เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่อิงตามสกุลเงินหลักของโลกซึ่งมักเป็นค่ามาตรฐานกลางในการประเมินเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่อิงตามอำนาจการซื้อของแต่ละประเทศที่จะอิงตามค่าเงินและค่าครองชีพของประเทศตนเอง ผลิตภัณฑ์มวลรวมที่คำนวณมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉพาะกิจการภายในประเทศ หรือ GNP ซึ่งจะคำนวณถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศอื่นที่ดำเนินการโดยกิจการภายในประเทศด้วย

โดยความแตกต่างสำคัญระหว่างดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศแบบมาตรฐานกลาง (GDP Nominal) และดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่อิงตามอำนาจการซื้อ (GDP Purchasing Power Parity) คือดัชนีมาตรฐานกลางจะคิดตามตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงในระบบเศรษฐกิจโดยไม่ได้มีการปรับค่าให้ตรงกับค่าครองชีพในประเทศนั้น ๆ และจะอิงตัวเลขกับตลาดค่าเงินระหว่างประเทศ ซึ่งจะแตกต่างจากดัชนีอิงตามอำนาจการซื้อ ที่จะมีการปรับค่าให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในประเทศไม่ว่าจะเป็นต้นทุนแรงงาน ต้นทุนสินค้าบริการ เงินเฟ้อ และอื่น ๆ  

ทำให้เมื่อมีการหยิบดัชนีเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ต้องใช้ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั้งแบบมาตรฐานกลางและแบบอิงอำนาจซื้อในประเทศ รวมทั้งผลิตภัณฑ์มวลรวมที่คำนวณมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉพาะกิจการภายในประเทศ เป็นพื้นฐานในการคำนวณ ไม่ว่าจะเป็น รายได้ต่อหัวในประเทศ รายได้เฉลี่ยในภูมิภาคต่าง ๆ ดัชนีความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ จึงทำให้ตัวเลขที่ออกมามีการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการใช้อีกดัชนีหนึ่งในการคำนวณหาตัวเลขทางเศรษฐกิจ

และสังคมโดยส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับเปอร์เซ็นต์การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม ในฐานะตัวชี้วัดสำคัญที่บ่งบอกถึงการพัฒนาประเทศและความมั่งคั่งของประเทศที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีซึ่งจะมีผลทำให้ประชาชนในประเทศมีโอกาสที่จะยกระดับความมั่งคั่งของตนได้มากขึ้น แม้ว่าสัดส่วนเปอร์เซ็นต์การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมจะไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดในการยกระดับคุณภาพชีวิตก็ตาม

 ซึ่งโดยปกติแล้ว ยิ่งเปอร์เซ็นต์การเติบโตทางเศรษฐกิจสูงก็มักจะเป็นเรื่องดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่ตัวชี้วัดที่ได้มองแบบเปอร์เซ็นต์นั้นก็ได้มองข้ามถึงฐานเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยประเทศที่มีฐานเศรษฐกิจเล็กหรือมีประชากรมากหรืออยู่ในช่วงการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็มักจะมีเปอร์เซ็นต์การเติบโตที่สูงเป็นเรื่องปกติ หรือบางครั้งก็อาจสามารถเติบโตเกินความเป็นจริงได้ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจแบบฟองสบู่

ในทางตรงกันข้าม กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่อยู่ในช่วงอยู่ตัวทางเศรษฐกิจซึ่งมีฐานเศรษฐกิจใหญ่ หรือกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตของประชากรต่ำ หรือประเทศที่มุ่งเน้นการเจริญเติบโตในภาคเศรษฐกิจที่เป็นฐานเศรษฐกิจจริงอย่างเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมพื้นฐานซึ่งมักมีอัตราการเติบโตที่ต่ำเมื่อเทียบกับภาคบริการในช่วงสถานการณ์ปกติ ก็มักจะมีแนวโน้มที่จะมีสัดส่วนเปอร์เซ็นต์การเติบโตต่ำกว่าประเทศที่เพิ่งพัฒนาได้ไม่นานนัก แต่เมื่อสังเกตถึงมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้ต่อหัวก็จะพบว่า ฐานการเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาค่อนบนและพัฒนาแล้วจะมีฐานการเติบโตที่สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาค่อนล่างโดยส่วนใหญ่

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีของประเทศ ก ที่มีฐาน GDP อยู่ที่ 10 ล้านล้านบาท และมีเปอร์เซ็นต์การเติบโตอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ประเทศ ข ที่มีฐาน GDP อยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท และมีเปอร์เซ็นต์การเติบโตอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์นั้น หากเปรียบเทียบตัวต่อตัวก็จะพบว่า เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี ประเทศ ก จะมีฐาน GDP อยู่ที่ 10.2 ล้านล้านบาท ซึ่งได้เพิ่มขึ้นมา 2 แสนล้านบาท ในขณะที่ประเทศ ข จะมีฐาน GDP อยู่ที่ 1.05 ล้านล้านบาท ซึ่งได้เพิ่มขึ้นมา 5 หมื่นล้านบาท 

กรณีดังกล่าวทำให้เห็นว่า แม้ว่าประเทศ ข จะมีเปอร์เซ็นต์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า ประเทศ ก แต่เมื่อประเมินจากฐานเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ ก็ถือได้ว่า ประเทศ ข มีมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจริงในแต่ละปีที่ต่ำกว่า ประเทศ ก ที่แม้ว่าจะมีเปอร์เซ็นต์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าแต่กลับมีมูลค่าการเติบโตจริงที่สูงกว่าถึง 4 เท่าตัว ตามตัวอย่างข้างต้น

นอกจากนี้ ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเองก็สามารถถูกปั่นให้สูงเกินจริงได้หรือที่เรียกกันว่า “เศรษฐกิจเทียม” ซึ่งมักเกิดจากการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของภาครัฐผ่านนโยบายต่าง ๆ โดยเฉพาะนโยบายรูปแบบประชานิยม โดยผลกระทบที่ตามมาคือ ในช่วงระยะสั้นนั้น เศรษฐกิจก็จะเติบโตตามปริมาณเงินที่ถูกอัดฉีดเข้าไปในภาคเศรษฐกิจ แต่หากเม็ดเงินส่วนนั้นไม่ได้ถูกใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจในระยะยาวจริง ก็จะกลายเป็นการลงทุนครั้งเดียวและเม็ดเงินมหาศาลก็จะหายไปในระบบเศรษฐกิจ และเมื่อเวลาผ่านไป เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจก็จะลดกลับสู่ภาวะปกติก่อนการเข้ามาของเศรษฐกิจเทียม ทำให้บางครั้งก็มีการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเรื่อย ๆ เพื่อเลี้ยงเศรษฐกิจเทียมให้ยังคงอยู่ต่อไปซึ่งย่อมเป็นภาระทางการเงินมหาศาลต่อประเทศอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นไปยังการขยายขีดความสามารถทางเศรษฐกิจในระยะยาวก็จะเป็นผลดีและคุ้มค่าต่อภาคเศรษฐกิจ เหตุผลคือ เมื่อมีการลงทุนไปยังภาคส่วนที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงก็จะเกิดการต่อยอดทุนเดิมที่ได้ลงทุนไปสู่ทุนใหม่ ๆ ที่ต่อยอดจากทุนเดิม จากภาคเศรษฐกิจใหม่ที่ได้รับการสนับสนุน จึงทำให้หลายประเทศมักมีการสนับสนุนการวิจัยนวัตกรรมและภาคเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงเพื่อใช้ในการต่อยอดขีดความสามารถทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้นซึ่งจะทำให้ดัชนีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีโอกาสที่จะเติบโตสูงขึ้นและมั่นคงในระยะยาวอีกด้วย

โดย ชย

อ้างอิง :

[1] ทำไม? เราต้องรู้จัก GDP  

https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/why-we-must-know-gdp.html

[2] จีดีพีล้าสมัยไปแล้วหรือไม่ ในการสะท้อนภาพของเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน

https://workpointtoday.com/gross-domestic-products-gdp-gross-national-happiness-gnh/

[3] 77 จังหวัดไหน GPP per capita สูงสุด?

https://www.terrabkk.com/articles/196822/77-จังหวัดไหน-gpp-per-capita-สูงสุด-



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า