
แนวคิดลัทธิตาสว่าง (Woke Mindset) มหันตภัยทางความคิดที่พร้อมจะฉีกเอกภาพทางสังคมได้เป็นชิ้นๆ
เมื่อพูดถึง “ลัทธิตาสว่าง” (Woke Mindset) หลาย ๆ คนมักนึกถึงการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิความหลากหลายทางเพศ สิทธิของคนด้อยโอกาส ความยุติธรรมในสังคม ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว การเรียกร้องสิทธิเหล่านี้มักเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิตาสว่างที่เห็นได้ชัดในสังคม
แต่ในความเป็นจริง ลัทธิตาสว่างกลับมีอีกด้านหนึ่งที่เข้าถึงยากและกลายเป็นแกนหลักของแนวความคิด เพราะส่วนที่เปิดเผยสู่สาธารณะชนโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแนวคิดลัทธิตาสว่างเท่านั้น และมักจะเป็นการนำเสนอแค่ในส่วนที่สังคมข้างนอกพอรับได้ในช่วงเวลาที่นำเสนอ เพราะหากนำเสนอแนวคิดแบบสุดโต่งมากจนเกินไป ก็จะถูกปฏิเสธและถูกมองว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมในสังคมในทันที และจะนำไปสู่การต่อต้านลัทธิตาสว่างเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้า
ชุดความคิดลัทธิตาสว่างมีการนำเสนอผ่านรูปแบบต่าง ๆ มาก่อนหน้านี้หลายปี เพื่อวางรากฐานของชุดความคิดนี้ก่อนที่จะเผยแพร่ออกสู่สาธารณะในภายหลัง ในรูปแบบที่เรียกว่า “วิศวกรรมทางสังคม” (Social Engineering) โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่สื่อออนไลน์ได้มีบทบาทสำคัญในการสื่อสาร และการเกิดขึ้นของ “รัง” ลัทธิตาสว่างตามประเทศต่างๆ และทางออนไลน์ เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ดังกล่าวสู่สังคมภายนอก
ทั้งนี้ ต้องย้อนกลับไปที่ความหมายของ “วิศวกรรมทางสังคม” ก่อน เพราะอาจดูเหมือนว่าจะแทบเป็นไปไม่ได้ แต่ที่จริงแล้ว สังคมของมนุษย์ถูกสร้างและจัดการตามระบบที่ได้มีการกำหนดไว้ก่อนหน้า และนั่นคือความหมายของ “วิศวกรรมทางสังคม” ที่หมายถึง การปรับเปลี่ยนกลไกและพฤติกรรมของคนในสังคม รวมทั้งการกำหนดความคิดและวัฒนธรรมร่วมกันในสังคมอีกด้วย ซึ่งสิ่งนี้มีมานานแล้วในสังคมตั้งแต่โบราณ โดยเฉพาะในสังคมขนาดใหญ่
เพียงแต่ว่า จุดประสงค์ของ “วิศวกรรมทางสังคม” ของยุคโบราณมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อหลอมรวมผู้คนในสังคมให้เป็นหนึ่งเดียวกันและเกิดเอกภาพทางสังคม (Social Unity) ในรูปแบบของวัฒนธรรมอันดีงาม กติกาทางสังคม หรือแม้แต่การศรัทธานับถือร่วมกัน ก็ถือได้ว่าเป็นวิศวกรรมทางสังคมด้วยกันได้ทั้งสิ้น โดยบางสังคมก็จะเปิดกว้างให้มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่บางสังคมก็อาจไม่ได้เปิดกว้างความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากนักและให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมหลักของตนอยู่อย่างเดียวเพียงเท่านั้น
ทว่าในยุคปัจจุบัน คนที่ยึดมั่นในชุดความคิดของลัทธิตาสว่างต่างพยายามใช้วิศวกรรมทางสังคม ในรูปแบบของสื่อสังคมออนไลน์โดยนำเสนอข้อมูลในนามของกลุ่มคนชายขอบทางสังคมบางส่วนที่มีภาพลักษณ์น่าเห็นใจในสายตาคนทั่วไป เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ชุดความคิด และวัฒนธรรมของคนในสังคมให้เป็นตามที่ตนต้องการเพื่อตรงกับเป้าหมายของลัทธิตาสว่างในระยะยาวอย่างแท้จริง
เป้าหมายของชุดความคิดลัทธิตาสว่างไม่ใช่การทำให้ตนเองตาสว่าง แต่เป็นการทำให้ผู้อื่นรอบข้างตาสว่างตามตนเองไปด้วย ทำให้เมื่อได้รับแนวคิดลัทธิตาสว่างเข้ามามาก ๆ เข้าก็มีแนวโน้มที่จะยัดเยียดให้ผู้อื่นยอมรับลัทธิตาสว่างไปด้วย โดยอ้างถึงเหตุผลมากมาย
ไม่ว่าจะเป็น การนำเสนอว่าเป็นแนวคิดที่ดีและบริสุทธิ์ในการพิทักษ์สิทธิ์ของคนชายขอบในสังคมหรือคนด้อยโอกาส การเป็นแนวคิดเพื่อคุ้มครองความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) การเป็นแนวคิดเพื่อให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ซึ่งบรรดาผู้ที่เชื่อในลัทธิตาสว่างแบบสุดโต่งมักจะยินดีที่จะทลายความเป็นเอกภาพทางสังคม แล้วแทนที่ด้วยอุดมการณ์ลัทธิตาสว่างในฐานะชุดความคิดหลักในสังคม
ตรงนี้เองที่ทำให้การต่อสู้ทางอุดมการณ์ของลัทธิตาสว่างมีความสุดโต่ง รุนแรง และมุ่งเน้นที่จะบังคับผู้อื่นให้เชื่อตามตนเองไปด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การเกิดขึ้นของนักสู้เพื่อความยุติธรรม (Social Justice Warrior) ในโลกออนไลน์ที่มีเป้าหมายในการแพร่ขยายอุดมการณ์ลัทธิตาสว่าง ทั้งในแบบที่สังคมพอยอมรับได้และแบบที่มีความสุดโต่งจนสังคมมองว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม โดยผู้ที่เป็นนักสู้เพื่อความยุติธรรมโดยมากมักเป็นผู้ที่เพิ่งสนใจในประเด็นทางสังคม ซึ่งยังมีประสบการณ์และความรู้น้อย บางกรณีมีการนำข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงมาใช้ประกอบเหตุผลในการแพร่ขยายลัทธิตาสว่าง และโดนผู้ที่รู้จริงในโลกออนไลน์ออกมาโต้กลับในบางครั้ง
รวมไปถึงการพยายามครอบงำการเผยแพร่ข่าวสารและความบันเทิงของลัทธิตาสว่าง เช่น การแฝงแนวคิดความหลากหลายทางเพศเข้าไปในภาพยนตร์กระแสหลัก โดยไม่ดูบริบทของภาพยนตร์ดังกล่าว การเผยแพร่ข่าวสารที่พยายามยกระดับภาพลักษณ์ของคนที่ดูเหมือนว่าจะถูกกดขี่จากสังคม โดยเปลี่ยนเป็นการกดทับกลุ่มคนปกติแทน การแฝงประเด็นทางการเมืองในสื่อบันเทิงโดยอ้างว่า “การเมืองคือทุกอย่าง” เพื่อยัดเยียดอุดมการณ์ลัทธิตาสว่างสู่สังคมภาพรวม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอข้อมูลที่มีชุดความคิดลัทธิตาสว่างแฝงอยู่ ท่ามกลางการถูกวิจารณ์จากสังคมว่าเป็นการยัดเยียดชุดความคิดลัทธิตาสว่างโดยไม่เหมาะสม และไม่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นข่าวสารและความบันเทิงที่ได้มีการนำเสนอออกไปสู่สังคมภายนอก
ในทางกลับกัน เมื่อมีการยัดเยียดชุดความคิดลัทธิตาสว่างมาก ๆ เข้า ก็จะมีแนวโน้มที่จะถูกตอบโต้อย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อกระแสสังคมออนไลน์ส่วนหนึ่งเริ่มจับตามองลัทธิตาสว่างทั้งแบบที่มองเห็นได้ชัดและในรูปแบบที่มีการแฝงเข้าไปในข่าวสารและความบันเทิงจนเกินพอดี ในฐานะลัทธิหรือความคิดแปลกปลอมในสังคม โดยมีแนวโน้มที่จะต่อต้านลัทธิตาสว่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ หากการต่อสู้ทางอุดมการณ์ของลัทธิตาสว่างยังคงเกิดขึ้นในรูปแบบเดิม ๆ ที่อ้างความยุติธรรม อ้างความเท่าเทียม และบังคับผู้อื่นให้เชื่อตามตนเอง
สุดท้ายนี้ แม้ว่าชุดความคิดลัทธิตาสว่างจะเริ่มมีอิทธิพลในสังคมสื่อออนไลน์อย่างแพร่หลาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ถูกต่อต้านแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามการต่อต้านอย่างจริงจังกลับมีมาเรื่อย ๆ ตามกฎธรรมชาติข้อหนึ่งที่ว่า
“เมื่อเกิดความสุดโต่งอย่างหนึ่ง ก็จะเกิดความสุดโต่งอีกอย่างหนึ่งเข้ามา เพื่อให้เกิดจุดสมดุลตรงกลาง”
อ้างอิง :
[1] DeSantis lambasts California’s ‘woke ideology’ in Reagan library speech
[2] Why the ideologies behind ‘Woke’ and Cancel Culture are putting our democracy in jeopardy | View
[3] War on wokeness: the year the right rallied around a made-up menace
https://www.theguardian.com/us-news/2022/dec/20/anti-woke-race-america-history
[4] What does ‘woke’ mean?
https://www.foxnews.com/us/what-does-woke-mean
[5] ลัทธิตาสว่าง (Woke) กับความสุดโต่งทางวัฒนธรรม ที่จะอยู่รอดอย่างไร เมื่อถูกมองว่าเป็น “สิ่งแปลกปลอม” ในสังคม
https://www.thestructure.live/fight-back-against-woke-culture-2022-08-24/