Articlesลัทธิตาสว่าง (Woke) กับความสุดโต่งทางวัฒนธรรม การอยู่รอดอย่างไร เมื่อถูกมองว่าเป็น “สิ่งแปลกปลอม”ในสังคม

ลัทธิตาสว่าง (Woke) กับความสุดโต่งทางวัฒนธรรม การอยู่รอดอย่างไร เมื่อถูกมองว่าเป็น “สิ่งแปลกปลอม”ในสังคม

ลัทธิตาสว่างในปัจจุบันที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของความสุดโต่งทางวัฒนธรรมนั้น ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้ จากแนวคิดทางวัฒนธรรมแบบก้าวหน้า ทันสมัย และเข้าถึงทุกคนโดยไม่แบ่งแยกผู้คนในขั้นเริ่มต้น โดยอาศัยบริบททางสังคมก่อนหน้านี้ของสังคมตะวันตก ที่มีการแบ่งแยกทั้งในเรื่องเพศ สีผิว และวัฒนธรรมย่อยอื่น ๆ มาเป็นวัตถุประสงค์ในการสร้างสังคมให้กลายเป็น สังคมที่มีความหลากหลาย และรองรับทุกคน     

 

แต่แนวคิดลัทธิตาสว่างกลับพัฒนาไปในหนทางที่เลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว เมื่อแนวคิดที่ดูมีความก้าวหน้านี้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกกลุ่มคนที่ตาสว่างจากสิ่งหนึ่ง กับกลุ่มคนที่ยังไม่ตาสว่างจากการรับรู้และความเข้าใจในสิ่งนั้นๆ และยังกดทับกลุ่มคนที่ดูเหมือนจะไม่ได้ตาสว่างกับสิ่ง ๆ หนึ่ง จนเลยเถิดไปถึงการบังคับให้เปลี่ยนความคิด ด้วยวิธีการที่ย้อนแย้งกับรากฐานของลัทธิตาสว่างในช่วงเริ่มแรก

 

เริ่มแรกลัทธิตาสว่างมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับกลุ่มคนที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนด้อยโอกาสและกลุ่มคนชายขอบทางสังคม ให้เทียบเท่ากลุ่มคนปกติในเรื่องการเข้าถึงสิทธิในการใช้ชีวิต รวมทั้งสร้างการรับรู้ทางสังคมในการเคารพความแตกต่างระหว่างบุคคล และการยอมรับในความหลากหลายทางสังคมในนามของพหุวัฒนธรรม ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีที่จะทำให้สังคมมีความกลมเกลียว และสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคมภาพรวม

 

นั่นคือรากฐานที่แท้จริงของแนวคิดลัทธิตาสว่าง ซึ่งมีที่มาจากการที่สังคมตะวันตกต้องเผชิญกับอคติที่มีต่อวัฒนธรรมและความคิดแบบกระแสรอง รวมทั้งความคิดของสังคมตะวันตกในยุคก่อน ๆ จึงเป็นที่มาของความต้องการสร้างความสมดุลในการทำให้สังคมมีพื้นที่รองรับวัฒนธรรมกระแสรอง และเป็นที่มาของลัทธิตาสว่างในสังคมตะวันตกที่ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือสร้างความสมดุลในการเปิดพื้นที่ ให้คนชายขอบได้มีพื้นที่ทางวัฒนธรรมร่วมกับบุคคลอื่นในสังคม

 

ทว่าลัทธิตาสว่างได้กลายพันธุ์เป็นความสุดโต่งทางวัฒนธรรมที่แพร่กระจายไปทั่วโลก และไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่การรักษาความเท่าเทียมทางสังคม หรือการดำรงความยุติธรรมอย่างที่เคยเป็นอยู่เท่านั้น แต่กลับหมายรวมไปถึงการขยายและการสร้างค่านิยมของการพิทักษ์ความยุติธรรมอย่างเลยเถิด จนเกิดวาทกรรม “นักรบแห่งความยุติธรรม (SJW)” ซึ่งเป็นการสร้างวัฒนธรรมรอง ที่กลายเป็นใบอนุญาตชั้นดีในการล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่นในหลากหลายรูปแบบ

 

ไม่ว่าจะเป็น วัฒนธรรมล้มเลิก ที่เป็นการรื้อวัฒนธรรมเดิม เพราะมองว่าเป็นการกดทับกลุ่มคนต่าง ๆ แล้วแทนที่ด้วยวัฒนธรรมใหม่ที่เข้ากับความคิดของตนมากกว่า วัฒนธรรมคว่ำบาตร ที่เป็นการสร้างวัฒนธรรมยุติการคบหาสมาคมกับกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์และความคิดต่างจากตน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาความไม่พอใจต่อลัทธิตาสว่างที่กำลังแพร่หลายไปทั่วโลก และนำไปสู่ข้อกังขามากมาย

 

ถ้านึกไม่ออกว่า “นักรบแห่งความยุติธรรม” คืออะไร ให้ลองนึกถึงบรรดาผู้พิพากษาโซเชียลที่แสดงออกอะไร ๆ ต่างบนโลกออนไลน์ก็ได้ เพราะตามนิยามของนักรบแห่งความยุติธรรม คือ การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมตามที่ได้นิยามเอาไว้กันเอง ซึ่งนักรบแห่งความยุติธรรมอาจหมายถึงส่วนย่อยของผู้พิพากษาโซเชียลเลยด้วยซ้ำ ที่คอยทำหน้าที่ฉอดด่า สร้างความยุติธรรมตามมาตรฐานของตนบนโลกออนไลน์

 

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของลัทธิตาสว่างในมุมอื่นของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่พยายามยัดเยียดและทำให้ลัทธิตาสว่างสุดโต่งขึ้นไปอีก กลับถูกมองว่าเป็นการสร้างรอยแยกในสังคมให้ร้าวลึกลงไปอีก เพราะบริบทในการเรียกร้องของลัทธิตาสว่างไม่เข้ากับบริบทของสังคมที่มีอยู่ ดังนั้นจึงกลายเป็นการสร้างความขัดแย้งในสังคม และทำให้ข้อเรียกร้องนั้นกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมในสังคมนั้นแทน

 

เพราะ “ลัทธิตาสว่าง” ถ้าแปลตามตรง คือ ตาสว่างจากสิ่งหนึ่ง และแน่นอนว่า หากเป็นการตาสว่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกสังคมหนึ่ง แต่สิ่งนั้นกลับไม่ได้เกิดขึ้นในสังคมที่ตนอยู่ ทว่า กลับเลือกที่จะนำความตาสว่างนั้นมาใช้ในสังคมที่ตนอยู่ซึ่งไม่ได้มีการกดทับในสิ่งนั้นๆ และกล่าวหาว่าสังคมที่ตนอยู่มีการกดทับในสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ตรงนี้แหละที่จะกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมในสังคม และจะกลายเป็นข้อโต้แย้งในสังคมทันที

 

การขยายการตีความของลัทธิตาสว่างให้สุดโต่งขึ้น การใช้ลัทธิตาสว่างในการโจมตีสังคมโดยไม่ศึกษาบริบททางสังคม รวมทั้งการใช้ข้ออ้างเรื่องความยุติธรรมที่นิยามกันเอาเองในการสร้างกระแสคว่ำบาตรบ้าง กระแสล้มเลิกรื้อสร้างบ้าง กระแสเลิกคบหาสมาคมบ้าง สิ่งเหล่านี้กลับทำให้สังคมร้าวฉานและแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากขึ้นไปอีก และทำให้คนในสังคมบางส่วนเริ่มมองลัทธิตาสว่างเป็นความน่าเบื่อและเริ่มกังขามากขึ้น

 

ในอีกด้านหนึ่ง ความกังขาเหล่านี้เกิดรุนแรงมากขึ้นตามความสุดโต่งของลัทธิตาสว่างที่มีมากขึ้น เริ่มจากสังคมตะวันตกที่มีกระแสไม่เอาลัทธิตาสว่างและการเรียกร้องให้กลับมาสู่จุดสมดุลของสังคมเดิม เริ่มกลับมาเป็นที่นิยมของสังคมตะวันตกอีกครั้ง และกระแสไม่เอาลัทธิตาสว่างได้แผ่ขยายไปทั่วโลกด้วยเหตุผลเดียวกัน ซึ่งมีแนวโน้มว่าความกังขานี้จะมีมากขึ้นไปอีก หากลัทธิตาสว่างยังคงความสุดโต่งแบบนี้ต่อไป

 

การเกิดขึ้นของลัทธิตาสว่างสมัยใหม่และการโต้กลับต่อลัทธิตาสว่างสมัยใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นนี้ แท้จริงแล้วเคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมตะวันตกในช่วงสงครามเย็น ที่มีการเรียกร้องสิทธิและความหลากหลายต่าง ๆ รวมทั้งการต่อต้านนโยบายรัฐเดิม จากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีบทบาทตั้งแต่ช่วงยุค 1960 ที่เรียกว่า “ฮิปปี้” หรือขบวนการบุปผาชนที่ยังคงเป็นที่จดจำของประวัติศาสตร์โลกมาจนถึงปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตามอิทธิพลของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเหล่านี้ที่พบได้เกือบทั่วโลกกลับถดถอยลง เมื่อการเคลื่อนไหวนั้นสุดโต่งเสียจนผู้คนในสังคมเริ่มต่อต้าน และปฏิเสธคุณค่าของการเคลื่อนไหวนั้น โดยเลือกที่จะหวนกลับไปให้ความสำคัญกับการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม และการให้คุณค่าความสำคัญกับสิทธิส่วนบุคคลที่จะคิด พูด หรือกระทำอย่างไรก็ได้ที่ไม่ขัดต่อสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น

 

การบังคับให้ผู้อื่นยอมรับกรอบศีลธรรมความดีงามที่ตนได้นิยามขึ้น พร้อมกับอ้างว่าจะทำให้สังคมมีความหลากหลายและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นการทำลายหลักสิทธิส่วนบุคคลอย่างยับเยิน จนกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดกระแสโต้กลับวัฒนธรรมตาสว่างอย่างแพร่หลายในช่วงยุค 1980 เป็นต้นมา และได้ลดทอนอิทธิพลของขบวนการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในสังคมตะวันตกอย่างรวดเร็วจนแทบหายไปจากสังคม

 

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสังคมใด ๆ ก็ตาม เมื่อมีความสุดโต่งอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็จะมีความสุดโต่งอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมาเพื่อทำให้เกิดความสมดุลในสังคมนั้น ซึ่งในกรณีของลัทธิตาสว่างสมัยใหม่ที่เริ่มมาแรงจากการตื่นรู้ผ่านสังคมออนไลน์ และใช้วิธีการเคลื่อนไหวแบบสุดโต่งยิ่งกว่ารอบที่ผ่านมา พร้อมๆ กับกระแสความกังขาที่มีต่อความคิดแบบลัทธิตาสว่างสมัยใหม่ที่กำลังมาแรงนั้น ก็คงต้องบอกว่า

 

“ตอนจบใกล้เข้ามาแล้ว และคงจบไม่ต่างจากภาคก่อนเท่าไหร่นัก”

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า