HWG 26

—————
ชิงไหวชิงพริบจนสภาฯ ล่ม
—————

ในที่สุดสภาก็ล่มตามคาด ตอนนับองค์ประชุมแบบขานชื่อก็ดูว่าสภาจะเดินต่อไปได้ แต่ พอลงมติในมาตรา 24/1 สมาชิกที่เข้ามาลงมติกลับไม่ครบองค์ประชุมเสียนี่ ประธานต้องสั่งปิดประชุมไป

กฎหมายเลือกตั้งจึงมีแนวโน้มว่าจะพิจารณาให้แล้วเสร็จไม่ทันภายใน 180 วันหรือ ภายในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ต้องกลับไปใช้ร่างเดิมที่ ครม.เสนอต่อสภา คือบัตรเลือกตั้งสองใบและหารด้วย 100 แต่คุณชวนยังเป็นคุณชวนคนเดิม ที่ยึดหลักการอย่างมั่นคง ขอทำงานอย่างเต็มที่จนนาทีสุดท้าย เรียกประชุมร่วมสองสภาอีกครั้งในวันที่ 15 สิงหาคม เพื่อพิจารณากฎหมายฉบับนี้ต่อให้แล้วเสร็จ 

อันนี้ต้องชื่นชมคุณชวน ส่วนจะมีสมาชิกมาครบองค์ประชุมหรือไม่ เป็นความรับผิดชอบของสมาชิกแล้ว ผู้ชมอย่างเราคงเดาคล้ายๆ กันว่า ไม่ครบองค์ประชุมแน่ สื่อคงพาดหัวข่าวสภาล่มอีกแล้วไว้ล่วงหน้าได้

การเมืองเมื่อเดินทางเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง เป็นธรรมดาของการชิงไหวชิงพริบ หาทางสร้างความได้เปรียบ ใครก็อยากชนะเลือกตั้ง ได้จัดตั้งรัฐบาล มีอำนาจบริหารบ้านเมือง กฎหมายเลือกตั้ง เป็นเครื่องมือไปสู่การได้อำนาจนั้น 

เมื่อมีโอกาสทำกฎหมายก็ต้องทำให้ฝ่ายตนได้เปรียบหรือฝ่ายตรงข้ามเสียเปรียบ ส่วนวิธีการจะชอบธรรม ชอบด้วยจริยธรรมหรือไม่ ประชาชนก็คงตัดสินได้จาก พฤติกรรมของนักการเมืองทั้งหลาย ต่อไปจะให้รางวัลหรือลงโทษนักการเมือง พรรคการเมือง ก็เป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของเรา

—————
เล่นการเมือง
—————

คำว่าการเมืองกับคำว่าเล่นการเมือง มีเส้นแบ่งของมันอยู่ การเมืองเป็นเรื่องจำเป็น เป็นเรื่องดี เป็นเรื่องที่ต้องมี เพราะเกี่ยวพันกับความเป็นไปของชาติบ้านเมือง 

การเมืองดี บ้านเมืองก็จะเดินหน้าไปทางดี บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า ประชาชนอยู่ดีมีสุข สมัครสมานสามัคคี การเมืองไม่มีดี บ้านเมืองก็จะเดินหน้าไปทางเลวร้าย มีตัวอย่างให้เห็นทั่วโลก ประชาชนตกทุกข์ได้ยาก ข้าวยากหมากแพง บ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อย รัฐล้มเหลวล่มสลาย 

การเล่นการเมืองจึงเป็นเหตุอันสำคัญที่จะทำให้การเมืองดีหรือไม่ดี นักการเมืองคือคนที่เล่นการเมืองจึงต้องเป็นคนดี จึงจะทำให้การเมืองดีได้ หน้าที่ของเราคือเลือกคนดีเข้าไปเล่นการเมือง ทำให้การเมืองมันดี อ่านแล้วก็คงเถียงในใจกัน คิดน่ะได้ แต่ทำน่ะยาก ก็จริงอยู่ แต่เราต้องทั้งคิดและทำกันต่อไป

—————
กฎหมายป้องกันอุ้มหายผ่านสภาฯ แล้ว
—————

อาทิตย์นี้มีเรื่องดีอยู่เรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา แต่สังคมไม่ค่อยทราบกันหรือ ไม่ค่อยได้สนใจติดตาม เพราะมีเรื่องอื่นเข้ามาชิงพื้นที่ข่าวในเวลาพร้อมๆ กัน “กฎหมายป้องกันการทรมานและการอุ้มหาย” ผ่านความเห็นชอบทั้งจากสภาผู้แทนและวุฒิสภาแล้ว 

กฎหมายนี้เป็นประโยชน์ต่อการปกป้องคุ้มครองประชาชนให้พ้นจากการถูกซ้อม การถูกทรมาน รวมทั้งการถูกอุ้มโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการยกระดับการอำนวยความยุติธรรม และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชน

อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อพิจารณาสาระสำคัญอีกครั้งเพราะสภาผู้แทนกับวุฒิสภา มีความเห็นไม่ตรงกันในบางมาตรา 

มีคนเล่าเบื้องหลังการประชุมวุฒิสภาพิจารณากฎหมายนี้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาให้ฟังว่า เดิมกรรมาธิการของวุฒิสภาแก้ไขกฎหมายนี้หลายมาตรามาก แต่พอเสนอที่ประชุมวุฒิสภา ปรากฎว่าที่สมาชิกวุฒิสภาเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่กรรมาธิการแก้ไข และลงมติให้กลับไปใช้ร่างเดิมของสภาผู้แทนเสียหลายมาตราเลยทีเดียว เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่บ่อยนัก 

สอบถามไปมาได้ความว่า สมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่เห็นว่าหลักการสำคัญที่ควรยึดในกฎหมายฉบับนี้คือ การปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน การคุ้มครองประชาชนให้พ้นจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้ประชาชนถูกซ้อม ถูกทรมาน ต้องไม่มีภาพผู้ต้องหาหรือผู้ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐถูกถุงดำคลุมหัวจนบาดเจ็บหรือตายไป หรือถูกอุ้มใส่ รถยนต์แล้วหายตัวไป 

ว่ากันว่าประชุมกันตั้งแต่เช้าถึงค่ำ มีเสียงชมเชยสมาชิกวุฒิสภาและรัฐบาล ให้ได้ยินอยู่บ้างว่าเปิดกว้างในการทำกฎหมายได้ก้าวหน้าและทันสมัย ยกระดับประเทศไทยในด้านสิทธิมนุษยชนได้อีกระดับเลยทีเดียว

ในฐานะประชาชนก็ได้แต่หวังว่าจะไม่มีใครขัดขวางกฎหมายนี้ ไม่ให้ออกมาบังคับใช้สิ่งดีๆ แก่ประเทศไทย แบบนี้ควรเร่งรีบทำออกมาให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

—————
มาตรฐานการทูตกรณี ‘ราชปักษา’ มาไทย
—————

หันมาดูนอกสภา เจอเรื่องเคยเล่ามาก่อนหน้านี้ถึงวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นที่ศรีลังกาจนทำให้ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ต้องหนีออกนอกประเทศไปที่มัลดีฟส์ และต่อมาพำนักชั่วคราวที่สิงคโปร์ตั้งแต่ 14 กรกฎาคม 65 เพื่อส่งจดหมายทางอีเมล์ลาออกจากตำแหน่งกลับไปที่ศรีลังกา 

ทำให้การประท้วงของประชาชนศรีลังกาค่อยๆ ลดความรุนแรงและสงบลงกลับคืนสู่ภาวะปกติเมื่อประธานาธิบดีคนใหม่นายรานิล วิกรมสิงเห ที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของราชปักษามาก่อน มาทำหน้าที่แทน และรับข้อเสนอที่จะออกกฎหมายจำกัดอำนาจของประธานาธิบดีด้วย 

แต่ประชาชนยังคงประสบปัญหาความยากลำบากในการใช้ชีวิต ต้องขอกู้เงินจากไอเอ็มเอฟโดยยอมให้ไอเอ็มเอฟเข้ามากำหนดกติกาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในศรีลังกา ดูไปก็คล้ายกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นกับไทยเมื่อปี 2540

เรื่องราวไม่น่าเกี่ยวข้องกับไทยแต่ก็มาเกี่ยวกันจนได้ เมื่อราชปักษาขอเข้ามาพำนักชั่วคราวที่กรุงเทพเมื่อคืน 11 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากที่สิงคโปร์ไม่ขยายวีซ่าให้ 

การที่ไทยอนุญาตให้ราชปักษาเข้ามาพำนักได้ ก็ถือเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ใช้มาตรฐานพิจารณาเช่นเดียวกับสิงคโปร์

เพราะเป็นการขอมาจากรัฐบาลศรีลังกา เป็นไปตามข้อตกลงการให้วีซ่าระหว่างไทยกับศรีลังกา ที่ให้ผู้ถือหนังสือเดินทางศรีลังกาสามารถเข้ามาพำนักได้ชั่วคราวไม่เกิน 90 วันโดยไม่ต้องขอวีซ่า และไม่ได้มีคำขอลี้ภัยทางการเมือง 

ที่สำคัญเมื่อพิจารณาแล้วว่าการเข้ามาพำนักไม่ได้สร้างปัญหาให้ไทย ทั้งหมดไทยปฏิบัติตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนี้ไทยยังพิจารณาถึงสถานะความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศที่มีต่อกันมาอย่างยาวนาน แนบแน่น

โดยเฉพาะทางศาสนาพุทธนิกายเถรวาทที่เผยแผ่เข้ามาในไทยก่อนที่ 2 ประเทศจะสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างกัน ความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนที่กำลังทำความตกลง FTA ต่อกัน ซึ่งจะทำให้การค้าของทั้ง 2 ประเทศขยายตัวมากขึ้นในอนาคต 

คุณประยุทธ์มีความแยบยลที่ย้ำถึงหลักมนุษยธรรม เพื่อแสดงถึงการกระทำต่างตอบแทนที่ศรีลังกาเคยช่วยเหลือจัดเครื่องบินนำส่งคนไทยกลับประเทศ ตามที่ไทยประสานขอช่วงที่ศรีลังกาเกิดวิกฤตโรคโควิด 19 ระบาดลุกลามไปทั่วประเทศด้วย ทั้งยังเป็นการแสดงให้นานาประเทศเห็นว่าไทยยึดหลักการที่ถูกต้องตามสากล

—————
ทำไมต้องมาไทย?
—————

มีคำถามว่าทำไมครอบครัวราชปักษาเลือกที่จะมาไทย ไม่ไปประเทศอื่น คงตอบได้ว่า นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดีต่อกันดังที่กล่าวมาแล้ว ยังต้องมั่นใจว่าไทยมีความปลอดภัยในการพำนักอาศัย โดยไม่ประสบปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม

และข้อกฎหมายใดที่สำคัญคือ การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งไม่ใช่เป็นประเด็นสำหรับกรณีนี้ เมื่อเทียบเคียงกับนักโทษหนีคดีของไทย ก็ต้องเลือกไปหลบอาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไทยเช่นเดียวกัน 

ระหว่างนี้ราชปักษาคงอยู่ระหว่างดำเนินกรรมวิธีที่จะทำเรื่องขอลี้ภัยไปประเทศอื่น หรือรอดูสถานการณ์ในศรีลังกาที่จะยอมให้เขากลับเข้าไปอีกหรือไม่ ไม่เช่นนั้นก็ยังต้องตระเวนไปพำนักที่ประเทศต่างๆ ตามหลักเกณฑ์วีซ่าของประเทศนั้นๆ ไปเรื่อยๆ ก่อน

—————
ราชปักษามีศัตรู ระวังอย่าให้เกิดเรื่องในไทย
—————

สิ่งจำเป็นที่ไทยต้องทำคือ การดูแลด้านความปลอดภัยให้ตามสมควรแก่ฐานานุรูป 

ครอบครัวราชปักษาไม่ใช่ไม่มีศัตรู ถ้าไปดูย้อนหลังแล้วจะเห็นว่า ตระกูลนี้มีชื่อเสียงจนเข้าสู่อำนาจทางการเมืองได้ก็เพราะผลงานปราบปรามกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่เข้มแข็งที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก และมีเครือข่ายในต่างประเทศได้อย่างราบคาบ 

ซึ่งหากเกิดเหตุล้างแค้นในไทยคงเป็นเรื่องที่ไม่ดีนัก แม้ว่าเครือข่ายของกลุ่มนี้จะไม่มีในไทยก็ตาม และยังมีคนศรีลังกาที่เข้ามาอยู่ในไทยทั้งแบบถูกต้องและไม่ถูกต้อง ที่ยังคงไม่พอใจครอบครัวราชปักษา 

ต้องไม่ลืมว่าช่วงที่ศรีลังกาเกิดวิกฤต มีชาวศรีลังกาจำนวนไม่น้อยที่เดินทางออกนอกประเทศไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า และไทยก็เป็นหนึ่งในมิตรประเทศที่คุ้นเคย

—————
ระวังนักการเมืองและกลุ่ม NGO
—————

ที่น่าห่วงที่สุดคือ พวกนักการเมืองและกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเมือง รวมถึงกลุ่ม NGO จะลากโยงประเด็นนี้มากล่าวหาคุณประยุทธ์ต่างๆ นานา ทำนองว่าเอื้อเฟื้อผู้นำที่ถูกขับไล่ มีภาพคอรัปชั่น มีภาพของเผด็จการ มาทำให้ไทยเสียภาพลักษณ์ เสียงบประมาณที่ต้องดูแล สุดแต่จะกล่าว 

เพียงแค่ขอให้ทำเป็นเรื่องโจมตี ตำหนิรัฐบาลและคนอื่น เพียงเพื่อให้ตัวเองมีชื่ออยู่ในกระแสข่าวแต่ละวันเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นต้องระวังการชักชวนกลุ่มคนศรีลังกาให้ออกมาแสดงกิจกรรมในที่สาธารณะโดยที่ตัวเองหลบอยู่ข้างหลังตามกรรมวิธีที่ตัวเองถนัดมาตลอด

 

#TheStructureNews

#สภาล่ม #กฎหมาย #เลือกตั้ง #อุ้มหาย #ทรมาน #ราชปักษา #ศรีลังกา #ไทย

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า