
บาร์บี้รุ่น ‘ดาวน์ซินโดรม’ Mattel เปิดตัวตุ๊กตาคอลเลคชั่นล่าสุด เพื่อสื่อถึงความหลากหลายของสังคม
แมทเทล (Mattel) บริษัทผลิตของเล่นยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เปิดตัวตุ๊กตาบาร์บี้รุ่น ‘ดาวน์ซินโดรม’ เพื่อให้บาร์บี้ของบริษัทมีความหลากหลายมากขึ้น หลังเคยถูกวิจารณ์ว่าบาร์บี้แบบดั้งเดิมไม่ใช่ตัวแทนของผู้หญิงส่วนใหญ่ในสังคม
แมทเทล กล่าวว่าบริษัทได้ทำงานร่วมกับสมาคมดาวน์ซินโดรมแห่งชาติสหรัฐฯ (National Down Syndrome Society : NDSS) อย่างใกล้ชิด ในการออกแบบรูปร่าง ลักษณะ เสื้อผ้า เครื่องประดับ และบรรจุภัณฑ์ของตุ๊กตา
เพื่อให้แน่ใจว่าตุ๊กตาบาร์บี้สามารถสะท้อนอัตลักษณ์ของผู้มีภาวะดาวน์ซินโดรม ซึ่งเป็นภาวะทางพันธุกรรมที่ส่งผลต่อความสามารถในการรับรู้ ทำให้เกิดการเรียนรู้บกพร่องเล็กน้อยถึงรุนแรงและมีลักษณะใบหน้าที่โดดเด่น
ตุ๊กตาบาร์บี้รุ่นดาวน์ซินโดรม จะมีลักษณะโครงร่างสั้นลงและลำตัวที่ยาวขึ้น นอกจากนี้ยังมีใบหน้าที่กลมและใบหูที่เล็กลง เพื่อเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่มีภาวะทางพันธุกรรม โดยมีกำหนดวางขายในช่องทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. เป็นต้นไป
บาร์บี้รุ่นดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่ของไลน์ ‘บาร์บี้ แฟชั่นนิสต้าส์’ (Barbie Fashionistas) ซึ่งรวมถึงตุ๊กตาบาร์บี้ที่มีขาเทียม ตุ๊กตาที่นั่งรถวีลแชร์ และตุ๊กตาผู้ชายอีกหลายแบบที่มีรูปร่างบางลงและมีกล้ามเนื้อน้อยกว่ารุ่นก่อนๆ
ซึ่งแมทเทลระบุว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์นี้ มีความหลากหลายและครอบคลุมมากที่สุด โดยนำเสนอโทนสีผิว สีตา สีและผิวสัมผัสของเส้นผม ประเภทของรูปร่าง ความพิการ และแฟชั่นที่หลากหลาย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเรื่องราวต่างๆ มากยิ่งขึ้น
ไลน์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เกิดขึ้นจากความพยายามของแมทเทลในการพัฒนาบาร์บี้ที่ไม่ได้มีแต่ผมสีบลอนด์ ตาสีฟ้า และเอวบางเฉียบแบบบาร์บี้ดั้งเดิม ซึ่งจากการศึกษาเชิงวิชาการที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลียในปี 2552 พบว่ามีผู้หญิงเพียง 1 ใน 100,000 คนที่มีรูปร่างแบบตุ๊กตาบาร์บี้แบบดั้งเดิม
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แมทเทลยังได้เปิดตัวตุ๊กตาสวมฮิญาบเพื่อเป็นเกียรติแก่อิบติฮัจ มูฮัมหมัด นักกีฬาชาวอเมริกันคนแรกที่สวมผ้าโพกศีรษะเพื่อแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก
ด้าน คานดี พิกการ์ด ประธานสมาคมดาวน์ซินโดรมแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่า การเปิดตัวบาร์บี้ดาวน์ซินโดรมในครั้งนี้ มีความหมายมากสำหรับชุมชนของเรา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้มีภาวะดาวน์ซินโดรมจะสามารถเล่นกับตุ๊กตาบาร์บี้ที่ดูเหมือนตนเอง พร้อมเสริมว่านับเป็นก้าวสำคัญสำหรับการยอมรับกลุ่มที่มีความหลากหลายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม