
การแพทย์ทางไกล (TeleMedicine)
ตั้งแต่สี่ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นส่งผลให้กิจวัตรประจำวันของผู้คนนั้นเปลี่ยนไป โดยในช่วงนั้นคนส่วนใหญ่เลือกจะลดการพบปะกัน หรือเดินทางไปในที่ ๆ มีผู้คนจำนวนมากเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ซึ่งรวมถึงกิจวัตรอื่น ๆ ที่สำคัญในชีวิตด้วย เช่น การเรียน และ การทำงาน เป็นต้น
จึงเกิดนวัตกรรมการติดต่อสื่อสารทางไกลผ่านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตขึ้น ซึ่งทำให้การติดต่อสื่อสารนั้นเป็นเรื่องสะดวกสบายมากขึ้น และที่สำคัญคือ ไม่จำเป็นต้องมีความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการพบปะผู้คนจำนวนมาก
แต่แน่นอนว่ายังมีบางโอกาสที่เราจำเป็นต้องพบหน้ากันผู้คนอื่น ๆ อยู่ เช่น การติดต่อราชการบางอย่าง, การพบปะลูกค้าหรือลงพื้นที่, หรือ การพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโรค
โดยในกรณีของการพบแพทย์หรือการไปหาหมอนั้น ในปัจจุบัน ก็มีการพัฒนานวัตกรรมหนึ่งขึ้นมานั่นก็คือ “การแพทย์ทางไกล” หรือ telemedicine ซึ่งค่อย ๆ มีความสำคัญมากขึ้น และกลายเป็นตัวเลือกหลักของการดูแลสุขภาพ
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กล่าวไว้ว่า องค์ประกอบที่สำคัญของ telemedicine มี 4 ประการ ได้แก่
- มีเป้าหมายในการสนับสนุนด้านการแพทย์
- มาจากความต้องการในก้าวข้ามการอุปสรรคทางภูมิศาสตร์ ด้วยการเชื่อมต่อกับผู้ใช้บริการซึ่งไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน
- เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารประเภทต่าง ๆ
- มีเป้าหมายสูงสุดในการพัฒนาผลลัพธ์ทางการรักษา
จากการที่ telemedicine นั้นจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มากมาย ซึ่งร่วมถึงการสร้างและจัดการเครือข่ายการสื่อสารทางไกล ผู้ที่มีขีดความสามารถในลงทุนกับเทคโนโลยีนี้โดยมากแล้วจึงเป็นภาคเอกชน หรืออาจจะต้องการความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ
อย่างกรณีล่าสุดนั้น ในด้านทันตกรรม หรือการรักษาฟันและช่องปาก ก็มีความร่วมมือระหว่าง ปตท. และ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัสดุชั้นสูงและการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ และการแพทย์ทางไกลในด้านการดูแลสุขภาพสำหรับสุขภาพช่องปากและการรักษาทางทันตกรรม ถือเป็นต้นแบบความร่วมมือที่นำไปสู่นวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานการแพทย์ของประเทศให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีกด้วย ซึ่งเชื่อว่าเราชาวไทยน่าจะได้ใช้บริการในเร็ววันนี้เมื่อโครงการแล้วเสร็จอย่างแน่นอน