Newsรายละเอียดของระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ.2566 ที่แตกต่างจากครั้งก่อน ๆ :

รายละเอียดของระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ.2566 ที่แตกต่างจากครั้งก่อน ๆ :

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ.2566 ที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ เป็นการเลือกตั้งที่มีกติกาการเลือกตั้งต่างจากครั้งก่อน คือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ.2562 ซึ่งประเด็นสำคัญของการเลือกตั้งครั้งที่จะเกิดขึ้นคือ จะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากระบบเขตมากขึ้นในจำนวน 400 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากระบบบัญชีรายชื่อน้อยลงในจำนวน 100 คน เป็นทั้งหมด 500 คน ซึ่งทำให้สัดส่วนของระบบเขตมีสัดส่วนมากขึ้นเมื่อเทียบกับระบบบัญชีรายชื่อ

รวมทั้งมีกติกาที่แตกต่างจากครั้งก่อน ๆ ตรงที่ว่า จะใช้ระบบบัตรลงคะแนนเสียงแบบ 2 ใบ แยกต่างหาก คือ ระบบเขต 1 ใบ และระบบบัญชีรายชื่อ 1 ใบ ที่จะคำนวณคะแนนเสียงการเลือกตั้งแยกต่างหาก ซึ่งต่างจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ.2562 ที่ใช้ระบบบัตรลงคะแนนเสียงเพียงใบเดียวและคำนวณคะแนนเสียงร่วมกันทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อ

ซึ่งหากมองลึกลงไปก็จะพบว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ.2566 จะมีรูปแบบการนับคะแนนที่เป็นประโยชน์ต่อพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพสูงและการได้รับแรงสนับสนุนเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองในวงกว้าง เพราะในระบบที่จะมาถึงนั้น หากได้รับคะแนนเสียงสูงทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อก็จะได้รับทั้งสองระบบและสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ง่ายโดยพรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางบางส่วน

เพราะต้องอย่าลืมว่า ในกติกาของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 มีสาระสำคัญอยู่ที่การรักษาสิทธิ์ของคะแนนเสียงทุกเสียงและการกระจายอำนาจทางการเมืองไปยังพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่มีคะแนนเสียงในระดับหนึ่ง ผ่านระบบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมี 

ที่ในทางหนึ่งก็คือการบั่นทอนพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่แม้ว่าจะสามารถเอาชนะในพื้นที่เขตได้เป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่สามารถครองเสียงข้างมากได้เพียงพอเพราะเงื่อนไขของระบบพึงมีที่ทำหน้าที่กระจายตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงเป็นจำนวนมากแต่ไม่ได้ครองพื้นที่เขตให้มีสิทธิ์ผ่านระบบบัญชีรายชื่อแทน จึงเกิดเหตุการณ์ที่พรรคการเมืองขนาดย่อมและขนาดกลางจำนวนมากเข้ามามีบทบาทครั้งใหญ่ในทางการเมืองไทยอีกครั้ง

จึงกลายเป็นแนวโน้มสำคัญต่อการแก้ไขระบบการเลือกตั้งให้เป็นมิตรต่อพรรคการเมืองที่อิงกับระบบเขตมากขึ้น รวมทั้งเป็นความพยายามสำคัญในการสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็งและมีเสถียรภาพเพื่อให้การผลักดันนโยบายภาครัฐสามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็เป็นการลดบทบาทของพรรคการเมืองขนาดย่อมและขนาดกลางบางส่วนที่มีอิทธิพลในทางการเมืองในช่วงนี้ลงผ่านการลดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อลงและยกเลิกระบบพึงมีในระบบการเลือกตั้งใหม่ครั้งนี้

ดังนั้น การปรับมาใช้กติกาการเลือกตั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นใน พ.ศ.2566 นี้ ได้ส่งผลไปในทางแง่ลบต่อพรรคการเมืองขนาดย่อมและขนาดกลางส่วนใหญ่ที่จะถูกบั่นทอนกำลังความสามารถในการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองจากกติกาใหม่ที่เกิดขึ้นหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในเรื่องระบบการเลือกตั้งที่มีแนวโน้มจะเป็นประโยชน์ต่อพรรคการเมืองที่มีศักยภาพในระบบเขตมากกว่า ท่ามกลางแรงสนับสนุนและกังขาต่อประเด็นการแก้ไขระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจนถึงปัจจุบัน

โดยที่มาของระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 ได้เกิดจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในเรื่องระบบการเลือกตั้ง โดยสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีความแตกต่างจากระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ตรงที่ว่า จะมีการใช้บัตรลงคะแนน 2 ใบ คือ ระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อรวมทั้งการเพิ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตเป็น 400 คน ซึ่งจะมีผลทำให้เขตเลือกตั้งในประเทศไทยเล็กลงและเพิ่มความสำคัญของระบบเขตมากขึ้น  

ซึ่งจุดสนใจสำคัญของเรื่องนี้ คือ ความสำคัญของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบระบบเขตจะมีมากขึ้น เมื่อเทียบกับระบบบัญชีรายชื่อ จากที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบระบบเขตมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 350 คน เป็น 400 คน และมีขนาดเขตเลือกตั้งที่เล็กลง ทำให้มีโอกาสที่จะเข้าถึงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ง่ายกว่าระบบบัญชีรายชื่อ

ในขณะที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบระบบบัญชีรายชื่อนอกจากจะมีจำนวนน้อยลงจาก 150 คน เป็น 100 คนแล้วนั้น การจะได้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจะต้องอิงกับคะแนนเสียงในบัตรลงคะแนนเสียงแบบบัญชีรายชื่อที่แยกต่างหากจากบัตรลงคะแนนเสียงแบบเขต และจะต้องมีคะแนนเสียงที่มากในระดับหนึ่งเพื่อให้ได้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อน้อยลงไปอีก

ทั้งนี้ หลักการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อในรูปแบบนี้จะเป็นการใช้ระบบคำนวณจากจำนวนผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมดมาหารกับจำนวนที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อซึ่งมีทั้งหมด 100 คน ซึ่งค่าตายตัวตรงนี้จะใช้ในการคำนวณอีกทีหนึ่ง ซึ่งเมื่อพรรคการเมืองหนึ่ง ๆ ได้คะแนนเสียงจากบัตรลงคะแนนเสียงแบบบัญชีรายชื่อ ก็จะนำคะแนนเสียงเหล่านี้มาหารกับค่าตายตัวตรงนี้เพื่อให้ได้จำนวนที่นั่งสมาชิกผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อขึ้นมา

ทำให้ในการได้รับซึ่งตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจึงทำได้ยากกว่าในระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 เป็นอย่างมาก และยังไม่นับถึงความได้เปรียบของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีฐานเสียงตามพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งสามารถได้ตำแหน่งในพื้นที่เขตที่สามารถทำได้ง่ายขึ้นจากขนาดพื้นที่เขตเลือกตั้งแบบใหม่และสามารถได้ตำแหน่งในระบบบัญชีรายชื่อได้อีกทอดหนึ่ง ถ้าสามารถรวบรวมคะแนนเสียงในพื้นที่เขตเลือกตั้งต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมากเพียงพอ 

สรุปได้ว่า กติกาการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 ที่จะเกิดขึ้นนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงกติกาการเลือกตั้งให้ต่างจากรอบก่อนและอาจถือได้ว่า มีความคล้ายคลึงกับกติกาการเลือกตั้งใน พ.ศ.2544 ที่อยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 อยู่พอสมควร และกล่าวได้ว่าในกติกานี้ พรรคการเมืองที่มีฐานเสียงในมือเป็นจำนวนมากและสามารถรวบรวมคะแนนเสียงจากพื้นที่ต่าง ๆ มาได้ก็จะได้เปรียบในกติกาแบบใหม่นี้ หรือในมุมหนึ่งก็สามารถมองเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ได้ว่า

“ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ก็คงไม่ผิดนัก”

โดย ชย

อ้างอิง :

[1] ส่องเกมสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ หาร 500 หรือ 100 กับผลประโยชน์ที่สวนทางระหว่างพรรคใหญ่-พรรคเล็ก 

https://thestandard.co/check-out-party-list-calculation-formula-mps/

[2] ระบบเลือกตั้งสูตรหาร 100 ทำเหลือ 14 พรรคได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

https://www.matichon.co.th/politics/news_3704804

[3] ทำความเข้าใจ ‘ระบบเลือกตั้งใหม่’ หาร 100-หาร 500 คืออะไร? ส่งผลอย่างไรต่อจำนวนที่นั่ง ส.ส.

https://plus.thairath.co.th/topic/spark/101765



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า