Newsยาเทียบ (CL) ดาบสองคมที่สังคมไทยชื่นชมและยังคงกังขาในเวลาเดียวกัน

ยาเทียบ (CL) ดาบสองคมที่สังคมไทยชื่นชมและยังคงกังขาในเวลาเดียวกัน

ยาเทียบ คือ ยาที่ถูกผลิตภายใต้นโยบาย “การบังคับใช้สิทธิ” ซึ่งเป็นการยกเว้นสิทธิบัตรการผลิตยาภายในประเทศ ทำให้สามารถผลิตยาโดยใช้สูตรยาดังกล่าวได้ด้วยตนเอง และไม่ต้องซื้อยาในราคาตลาดที่มักมีราคาค่อนข้างสูง โดยมักมีการประกาศใช้ในสถานการณ์ที่ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุข หรือต้องการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยารักษาโรคที่เป็นยาเทียบได้ในราคาที่ไม่สูงมากนัก

 

ในส่วนของการยกเว้นสิทธิบัตรยานั้น ภาครัฐสามารถออกนโยบายกำกับเพิ่มเติม เรื่องการช่วยสนับสนุนค่าสิทธิบัตรต่อบริษัทยาที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยาเทียบได้ แต่โดยมากแล้วไม่ได้มีการสนับสนุนค่าสิทธิบัตรยามากนัก และยังน้อยกว่าที่บริษัทยาต้องการอยู่มากด้วย ทำให้การประกาศใช้นโยบายดังกล่าวจึงมีทั้งผู้ที่สนับสนุนและผู้ที่ยังคงกังขาในตัวนโยบายการบังคับใช้สิทธิดังกล่าว

 

ในมุมหนึ่ง การประกาศใช้นโยบาย “การบังคับใช้สิทธิ” เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง ในฐานะเครื่องมือสำคัญในการลดภาระของระบบสาธารณสุข ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น ทั้งในช่วงระหว่างการรักษาและหลังการรักษา ซึ่งเป็นการรักษาสุขภาพของประชาชนในระยะยาว โดยเฉพาะในประเทศที่ระบบสาธารณสุขไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากนัก

 

การประกาศนโยบายดังกล่าวนั้น ช่วยให้ภาครัฐในประเทศต่างๆ เสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ในการเข้าถึงยารักษาโรคที่สามารถใช้บริการได้ในระบบสาธารณสุข และทำให้ภาครัฐมีศักยภาพในการผลิตยาผ่านกลไกของปฏิญญาโดฮา (พ.ศ.2544) ที่เปิดทางให้สามารถผลิตยาเองได้ โดยใช้สูตรยาที่มีการจดทะเบียนเข้ามาในประเทศเพื่อผลิตใช้ในระบบสาธารณสุขโดยไม่แสวงหาผลกำไร

 

ประเทศที่ลงนามในปฏิญญาโดฮาแล้ว สามารถใช้เงื่อนไขตามข้อตกลงในการบังคับใช้นโยบายการบังคับใช้สิทธิ เพื่อให้เข้าถึงยารักษาโรคพื้นฐานได้ง่ายขึ้นและมีค่าใช้จ่ายน้อยลง โดยการนำยาเข้ามาจำหน่ายในแต่ละประเทศได้นั้น ต้องมีการนำสูตรยามาจดทะเบียนก่อนที่จะจำหน่ายจริง

 

ดังนั้น จึงสามารถนำสูตรยาที่จดทะเบียนแล้วเหล่านี้ มาผลิตเป็นยารักษาโรคในสูตรที่คล้ายคลึงกัน เพื่อใช้ในการรักษาโรคโดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการแสวงหาผลกำไรภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ จึงเรียกยาเหล่านี้ว่า “ยาเทียบ” ซึ่งเป็นยาที่ผลิตโดยกลไกของภาครัฐ ไม่ได้ผลิตโดยบริษัทยาที่เป็นเจ้าของสูตรยาแต่อย่างใด

 

ทว่าข้อสงสัยเกี่ยวกับการประกาศใช้นโยบาย “การบังคับใช้สิทธิ” ยังคงมีอยู่เช่นกัน ในประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรของตัวยาที่เป็นการคิดค้นนวัตกรรมของบริษัทยา ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนและการวิจัยอย่างมหาศาล และอาจทำให้บริษัทยาขาดแรงจูงใจในการพัฒนายารักษาโรคในอนาคต หรือไม่สนใจที่จะทำตลาดในประเทศที่มีการประกาศใช้นโยบายการบังคับใช้สิทธิ ซึ่งจะทำให้เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นไปได้ยากขึ้น

 

ประเด็นการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางด้านสาธารณสุข ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่อยู่เช่นกัน เพราะช่วยให้ระบบสาธารณสุขสามารถลดข้อจำกัดในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ที่แต่เดิมนั้นรักษาได้ยากหรือแทบรักษาไม่ได้เลย ให้สามารถรักษาได้ด้วยเทคโนโลยียาใหม่ๆ ที่เข้ามาในประเทศ แต่การประกาศใช้นโยบายบังคับสิทธิในประเทศหนึ่งๆ อาจมีผลทำให้บริษัทยาส่วนหนึ่งขาดแรงจูงใจที่จะทำตลาดในประเทศที่มีการประกาศใช้นโยบายดังกล่าวได้เช่นกัน

 

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว อาจเป็นการปิดโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่เรื่องตัวยา โดยเฉพาะในประเทศขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีตลาดการบริโภคยารักษาโรคในสัดส่วนที่ไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่ ที่มีศักยภาพในการต่อรองกับบริษัทยาในการนำยาเข้ามาจดทะเบียนและจำหน่ายภายในประเทศ เพื่อให้สามารถมีสิทธิ์เข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ โดยที่การประกาศบังคับใช้สิทธิ์ในประเทศใหญ่ไม่ได้กระทบต่อเรื่องนี้มากนัก

 

แต่สำหรับประเทศขนาดกลางและขนาดเล็กนั้น การประกาศใช้นโยบายดังกล่าว กลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่บริษัทยาจะไม่นำยาเข้ามาจำหน่าย และจดทะเบียนในประเทศ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงเทคโนโลยียารักษาโรคใหม่ๆ ภายในประเทศ อีกทั้งยังทำให้ระบบสาธารณสุขขาดทางเลือกและโอกาสในการพัฒนาวิธีการรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพ เพราะขาดการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ จากสาเหตุเหล่านี้

 

นอกจากนี้ การประกาศบังคับใช้สิทธิในประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่ จะมีความได้เปรียบมากกว่าประเทศขนาดเล็กและขนาดกลาง เพราะนอกจากจะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขได้เป็นจำนวนมากแล้ว ยังสามารถต่อรองกับบริษัทยาเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยียาใหม่ๆ ได้มากกว่าประเทศขนาดเล็กและกลางที่ได้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวน้อยกว่าอีกด้วย

 

ทั้งหมดนี้จึงเป็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับนโยบาย “การบังคับใช้สิทธิ” ที่เกิดขึ้นมายาวนานในหลายประเทศ ประเทศไทยในฐานะที่เคยประกาศใช้นโยบายการบังคับใช้สิทธิกับตัวยาต่างๆ มาก่อนหน้านี้ จึงถูกมองในฐานะทั้งให้การสนับสนุน และในขณะเดียวกันก็ยังคงมีความกังขาเกี่ยวกับการประกาศใช้นโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเด็นด้านสุขภาพและการเข้าถึงระบบสาธารณสุข เป็นสิ่งที่สังคมให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

 

สถานการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้มากมายหลายครั้ง หรือแม้แต่โรคภัยไข้เจ็บปกติที่เป็นโรคประจำฤดูกาล ทำให้คนกลุ่มหนึ่งต้องการให้ภาครัฐของประเทศต่างๆ เข้ามาสนับสนุนระบบสาธารณสุขที่เคยได้รับการสนับสนุนอยู่แล้ว ให้ยกระดับเพิ่มการสนับสนุนมากขึ้นไปอีก ส่งผลให้ภาครัฐต้องแบกรับภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น และการประกาศใช้นโยบายบังคับใช้สิทธิ เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยลดต้นทุนของระบบสาธารณสุขให้น้อยลงได้

 

อีกด้านหนึ่ง ทุกครั้งที่มีการประกาศใช้นโยบายการบังคับใช้สิทธิ ย่อมหมายถึงการเผชิญหน้ากับบริษัทยาเรื่องสิทธิบัตรยา และยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยียาใหม่ๆ ได้น้อยลงในอนาคตอีกด้วย ซึ่งภาครัฐสามารถใช้วิธีการอื่นๆ ในการลดต้นทุนของระบบสาธารณสุขลงได้ โดยไม่ทำให้ประเทศต้องสูญเสียโอกาสเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ และยังสูญเสียความน่าเชื่อถือในระดับโลกอีกด้วย

 

ไม่ว่าจะเป็นการหารายได้เพิ่มเติมในการเข้าไปสนับสนุนระบบสาธารณสุข การสนับสนุนระบบการออมและประกันสุขภาพส่วนบุคคล การใช้ระบบร่วมจ่ายสำหรับประชากรที่มีศักยภาพในการร่วมจ่าย และมีข้อยกเว้นสำหรับประชากรที่ขาดศักยภาพในการร่วมจ่าย ฯลฯ เหล่านี้คือวิธีการต่างๆ ที่ภาครัฐสามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างสาธารณสุขให้ดำเนินการต่อไปได้

 

สุดท้ายนี้ นโยบายการบังคับใช้สิทธิ์ในตัวยา ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับการจัดการระบบสาธารณสุขในแต่ละประเทศที่มีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อด้อยของการใช้เครื่องมือทางนโยบายที่แตกต่างกัน การเลือกใช้นโยบายที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้กลไกของระบบสาธารณสุข รวมทั้งกลไกในระบบอื่นๆ สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

โดย ชย

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า