
“เหมืองแร่สร้างสุข” ผันเงินบำรุงพิเศษเหมือง ไปสร้างงาน พัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตชุมชน คาดสร้างเงิน 46.2 ล้านบาท โต 32% ในปีแร
จากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง “กําหนดอัตราการจ่ายเงินบํารุงพิเศษ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเรียกเก็บ และการจัดสรรเงินบํารุงพิเศษ พ.ศ. 2560” กำหนดให้มีการเรียกเก็บ “เงินบำรุงพิเศษ” จากผู้ได้รับสัมปทานเหมืองแร่ในอัตราร้อยละ 5 เพื่อใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น วิจัยด้านแร่ พัฒนาพื้นที่ และปราบปรามการกระทำความผิดอันเนื่องมาจากกฎหมายว่าด้วยแร่
สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี จัดทำโครงการ “เหมืองสร้างสุข” ด้วยเงินงบประมาณดังกล่าว ยกระดับอาชีพชุมชนให้แก่ประชาชน วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ SMEs รอบกิจการเหมืองแร่ใน จ.สระบุรี รวม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.แก่งคอย อ.พระพุทธบาท อ.เฉลิมพระเกียรติ และอ.มวกเหล็ก รวม 42 กิจการ
เพื่อเติมเต็มเศรษฐกิจฐานรากชุมชน ให้เติบโตเข้มแข็งอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เน้นผลักดันกระบวนการผลิตและแปรรูปผลผลิตภาคการเกษตรให้มีมาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมครบวงจร อบรมพัฒนาทักษะความรู้การค้าออนไลน์ พร้อมเพิ่มช่องทางการขายใหม่ๆ เตรียมทดสอบตลาด หนุนจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนา ระหว่างวันที่ 3 – 7 พ.ค. 2566 ณ ลานกิจกรรม ชั้น B ซีคอน บางแค กรุงเทพมหานคร คาดมีรายได้ 46.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 32.43% ในปีแรก
นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า
“โครงการเหมืองแร่สร้างสุข ส่งเสริมอาชีพชุมชน มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพด้านกระบวนการผลิตและการแปรรูปผลผลิตภาคการเกษตร ยกระดับราคาสินค้าภาคการเกษตร เพิ่มทักษะด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ ๆ
ซึ่งจะช่วยเติมเต็มความต้องการด้านเศรษฐกิจของจังหวัดทำให้ประชาชนและชุมชนในพื้นที่เกิดอาชีพมีการสร้างรายได้ที่มั่นคง สร้างชุมชนที่มีความสุข
และยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของกิจการเหมืองแร่ในการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างสมดุล นอกเหนือจากกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม อันเป็นไปตามภารกิจของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่”
ด้านนายนพดล ชีวะอิสระกุล อุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
“ขณะนี้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ผ่านการต่อยอด ปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทีมที่ปรึกษาสถาบันอาหาร มีความพร้อมเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์และช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ จำนวน 31 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม 28 ผลิตภัณฑ์, กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ ของตกแต่ง และของที่ระลึก 2 ผลิตภัณฑ์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 1 ผลิตภัณฑ์
โดยประเมินว่าสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไม่น้อยกว่า 46.2 ล้านบาท เกิดการลงทุนผลิต สร้างงาน เพิ่มช่องทางสร้างรายได้ คาดว่ามีอัตราเติบโตรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 32.43%”
นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 3 – 7 พ.ค. 2566 ณ ลานกิจกรรม ชั้น B ซีคอน บางแค กรุงเทพมหานคร จะมีการจัดงานแสดงสินค้าเพื่อทดสอบตลาดและสร้างโอกาสทางการตลาด เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ นำผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการต่อยอดมาแสดงและจำหน่ายอีกด้วย