
พบซาก “วาฬมิงค์” ครั้งแรกในไทย สะท้อนความหลากหลายทางชีวภาพของท้องทะเลไทย
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยแพร่ผ่านแฟนเพจถึงการค้นพบ “วาฬมิงค์” เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยการเผยแพร่ในครั้งนี้อ้างถึงเอกสารวิชาการ เรื่อง “เหตุการณ์เกยตื้นครั้งแรกของวาฬมิงค์ครั้งแรกในไทย รายงานในอ่าวไทย” (First Stranding Event of a Common Minke Whale (Balaenoptera acutorostrata Lacépède, 1804) Reported in the Gulf of Thailand) โดย สพ.ญ.ราชาวดี จันทรา นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก (ศวบต.) ร่วมกับศ.น.สพ.ดร.กรกฏ งานวงศ์พานิชย์ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในเอกสารรายงานถึงการค้นพบซากวาฬเกยตื้น บริเวณเขื่อนหินกันคลื่น ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี วันที่ 5 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นซากวาฬซี่กรอง เพศผู้ ความยาว 5.27 เมตร น้ำหนักประมาณ 1,000 กิโลกรัม โดยการตรวจสอบสัณฐานวิทยา ร่วมกับการวิเคราะห์ไมโตคอนเดรียดีเอ็นเอ (D-loop) เพื่อระบุชนิดพันธุ์ซึ่งพบว่าเป็นวาฬมิงค์ (Common Minke Whale; Balaenoptera acutorostrata) ซึ่งเป็นการพบวาฬมิงค์ครั้งแรกในน่านน้ำไทย
สำหรับวาฬมิงค์ทั่วไปนั้น มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “วาฬมิงค์เหนือ” เป็นสายพันธุ์หนึ่งของวาฬมิงค์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของวาฬบาลีน (Baleen Whale) และจากหลักฐานทางบรรพชีวินวิทยา พบว่าวาฬมิงค์เคยมีชีวิตอยู่มาตั้งแต่ 3.6 ล้านปีที่แล้ว
วาฬมิงค์สามารถพบได้ในหลายน่านน้ำทั้งซีกโลกเหนือ และซีกโลกใต้ ยกเว้นบริเวณเส้นศูนย์สูตร มีขนาดลำตัวเมื่อโตเต็มที่ 7.9 – 8.5 เมตร มีจะงอยปากรูปสามเหลี่ยมที่แคบแหลม ลำตัวส่วนบนสีดำเทา และลำตัวส่วนล่างสีขาวครีม กินปลา, กุ้ง และปลาหมึกเป็นอาหาร ไม่มีพฤติกรรมอยู่ร่วมกันเป็นฝูง ถึงแม้จะพบวาฬมิงค์มากกว่า 1 ตัวในพื้นที่เดียวกันในบางครั้ง แต่พวกมันก็ไม่ล่าเหยื่อร่วมกัน
ปัจจุบันโครงกระดูกวาฬมิงค์ จัดแสดง ณ อาคารจัดแสดงโครงกระดูกวาฬบรูด้าและนิทรรศการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ภายในศูนย์วิจัยฯ อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อสร้างความตระหนักรู้ เรื่องสัตว์ทะเลหายาก และความหลากหลายทางชีวภาพ ให้แก่เยาวชนและประชาชนต่อไป