
ไต้หวันฉุนฮอนดูรัส หลังเปิดสัมพันธ์จีนอย่างเป็นทางการ พร้อมประณามฮอนดูรัสว่ารีดไถเงิน
จีน-ฮอนดูรัสเริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการแล้ว หลังฮอนดูรัสยุติความสัมพันธ์ยาวนานเกือบ 80 ปีกับไต้หวัน ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวันกล่าวหาว่าฮอนดูรัสเคยเรียกร้องขอเงินก้อนโตก่อนจะหันไปซบจีน
เมื่อวานนี้ (26 มี.ค.) รัฐบาลจีนออกแถลงการณ์ระบุว่า นายฉิน กัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของจีนกับนายเอดูอาร์โด เอ็นริเก เรนา รัฐมนตรีต่างประเทศฮอนดูรัส ได้ลงนามข้อตกลงรับรองความสัมพันธ์ทางการทูตร่วมกันที่กรุงปักกิ่ง และยุติความสัมพันธ์กับไต้หวันที่ย้อนไปถึงทศวรรรษ 1940
ในแถลงการณ์สั้นๆ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (25 มี.ค.) กระทรวงการต่างประเทศฮอนดูรัสระบุว่า ฮอนดูรัสยอมรับว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงแห่งเดียวที่เป็นตัวแทนของจีนทั้งหมด และไต้หวันเป็น “ดินแดนของจีนที่ไม่อาจแยกจากจีนได้”
ด้านโจเซฟ วู รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน ออกแถลงการณ์สั้นๆ เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า ประธานาธิบดีซิโอมารา คาสโตร ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นปีที่แล้ว และรัฐบาลฮอนดูรัส มีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับจีน ขณะที่จีนเองก็ไม่เคยหยุดการ “ล่อลวง”
พร้อมเสริมว่า กระทรวงต่างประเทศและสถานทูตไต้หวันพยายามจัดการความสัมพันธ์อย่างระมัดระวังมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของคาสโตรได้เรียกร้องเงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์จากเรา อีกทั้งยังเปรียบเทียบโครงการความช่วยเหลือระหว่างไต้หวันกับจีนด้วย
นายวูยังอ้างด้วยว่า รัฐมนตรีต่างประเทศฮอนดูรัสส่งจดหมายถึงไต้หวันเมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา หรือเพียง 1 วันก่อนที่คาสโตรจะประกาศสถาปนาความสัมพันธ์กับจีน เพื่อเรียกร้องขอเงินช่วยเหลือเกือบ 2,500 พันล้านดอลลาร์ (ราว 8.57 หมื่นล้านบาท) ซึ่งรวมถึงงบประมาณสำหรับการก่อสร้างโรงพยาบาลและเขื่อน
ขณะที่ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน กล่าวในถ้อยแถลงทางวิดีโอว่า ไต้หวันจะไม่แข่งขันกับจีนด้วยวิธีการทางการทูตแบบหว่านเงินอย่างไร้ความหมาย
“ชาวไต้หวันได้พิสูจน์ให้โลกเห็นแล้วว่าเราไม่เคยเกรงกลัวต่อภัยคุกคาม ความร่วมมือกับพันธมิตรและประเทศที่มีแนวคิดเดียวกัน เพื่อร่วมกันส่งเสริมสวัสดิภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศมีแต่จะเพิ่มขึ้น ไม่ลดลง” เธอกล่าว
ปัจจุบัน ไต้หวันมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับ 13 ประเทศเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศยากจนและกำลังพัฒนาในอเมริกากลาง แคริบเบียน และแปซิฟิก
(1 ดอลลาร์ = 34.29 บาท)