
นวัตกรรมตัดต่อยีน รัฐบาลจีนรับรองความปลอดภัยของ ‘พืชตัดต่อยีน’ ชนิดแรกในประเทศ
จีนได้อนุมัติความปลอดภัยของถั่วเหลืองที่มีการแก้ไขยีน (gene-edited) ซึ่งเป็นการอนุมัติเทคโนโลยีนี้ในพืชผลเป็นครั้งแรก ในขณะที่จีนหันมาพึ่งวิทยาศาสตร์มากขึ้นเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
ถั่วเหลืองตัดต่อยีนที่พัฒนาโดยบริษัทเอกชน Shandong Shunfeng Biotechnology มียีนที่ถูกดัดแปลง 2 ยีน ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับกรดโอเลอิกซึ่งเป็นไขมันดีในพืชอย่างมีนัยสำคัญ
เอกสารที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วโดยกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (MARA) ระบุว่า มีการอนุมัติใบรับรองความปลอดภัยเป็นเวลา 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2566
การแก้ไขยีน (gene editing) เป็นการเปลี่ยนแปลงยีนที่มีอยู่ ซึ่งแตกต่างจากการดัดแปลงพันธุกรรม (genetic modification) ซึ่งเป็นการนำยีนแปลกปลอมใส่เข้าไปในเซลล์ของพืช
เทคโนโลยีการแก้ไขยีน (gene editing) มีความเสี่ยงน้อยกว่าสิ่งมีชีวิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ จุลินทรีย์ หรือแบคทีเรีย ที่ผ่านกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม (Genetically Modified Organisms : GMO) และมีการควบคุมที่เข้มงวดน้อยกว่าในบางประเทศ รวมถึงจีนซึ่งได้เผยแพร่กฎระเบียบเกี่ยวกับการตัดต่อยีนเมื่อปีที่แล้ว
ตัวแทนของบริษัท Shandong Shunfeng Biotechnology กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทกำลังทำการวิจัยพืชที่มีการแก้ไขยีนอีกประมาณ 20 ชนิด ซึ่งรวมถึงข้าว ข้าวสาลีและข้าวโพดที่ให้ผลผลิตสูงกว่า ข้าวและถั่วเหลืองที่ต้านทานสารกำจัดวัชพืช และผักกาดหอมที่อุดมด้วยวิตามินซี โดยบริษัทตั้งเป้าเป็นผู้ขายในจีนเจ้าแรก