
“คาร์บอนเครดิต” (carbon credit) แนวทางของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาคอุตสาหกรรม
วิกฤตการณ์เปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ หรือ Climate Change นั้นคือปัญหาที่ทั่วโลกพยายามเร่งแก้ไข โดยรัฐบาล เอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม รวมทั้งนักวิจัยและนักวิชาการต่างก็มีการนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหามากมาย และหลายโครงการก็ได้มีการเริ่มผลักดันจนเกิดขึ้นจริงแล้ว
.
หนึ่งในแนวทางของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ก็คือแนวคิด “คาร์บอนเครดิต” (carbon credit) ซึ่งคือการที่จำกัดปริมาณการปล่อยคาร์บอนของภาคเอกชนและนำกลไกตลาดในระบบทุนนิยมเข้ามาเป็นตัวสร้างแรงจูงใจให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ นี่เป็นหนึ่งในกลไกของการควบคุมการปล่อยก๊าซของอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ซึ่งถ้าไม่สามารถควบคุมอัตราการปล่อยก๊าซของตัวเองได้ ทางออกก็คือ ต้องซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อขยายโควตาการปล่อยก๊าซของคุณเพิ่ม แต่ในทางกลับกัน ถ้าสามารถควบคุมได้ มันก็อาจเป็นช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มได้ด้วยเช่นกัน
.
โดยในประเทศไทยนั้น ได้มีการนำแนวคิดคาร์บอนเครดิตมาใช้แล้ว ทำให้เกิด “ตลาดคาร์บอน” ในสองภาคส่วนคือ ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ และ ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ
.
ในภาคบังคับนั้น คือการซื้อขายคาร์บอนตามพันธกรณีของพิธีสารเกียวโต ซึ่งประเทศไทยนั้นเป็นภาคีสมาชิก ซึ่งการค้าคาร์บอนเครดิตที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยคือ การค้า CERs (Certified Emission Reduction from Clean Development Mechanism Project) ซึ่งเป็นการนำแนวคิดคาร์บอนเครดิตมาใช้ในลักษณะ top-down approach นั่นคือการที่ภาครัฐมีการออกกฎหมายและควบคุมดูแลปริมาณ
.
ในส่วนของตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจนั้นมีโครงการ เช่น โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) หรือ T-VER ริเริ่มขึ้นโดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. (TGO) ซึ่งเป็นองค์การมหาชนที่จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2550 อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องในการติดตามสถานะและการดำเนินการภายในตลาดคาร์บอน
.
ซึ่งปัจจุบัน ในภาคเอกชนก็ได้มีบริษัทต่าง ๆ ที่หันมาให้ความสำคัญกับคาร์บอนเครดิตมากขึ้น ทำให้ตลาดคาร์บอนของประเทศไทยนั้นเริ่มตื่นตัวและคึกคักมากขึ้น เช่น เมื่อปี 2565 มูลค่าของตลาดคาร์บอนนั้นก็เพิ่มขึ้นถึง 129 ล้านบาท และเมื่อไม่นานมานี้บริษัทพลังงานอย่าง ปตท. (PTT) ก็มีบริษัทในเครืออย่าง เมฆา วี จำกัด (Mekha V) ที่เป็นแฟลกชิปด้านธุรกิจปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และดิจิทัล (AI, Robotics & Digitalization) ร่วมลงทุนกับ WHAUP และ Sertis ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการนวัตกรรมพลังงาน โดย RENEX ถือเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายพลังงานหมุนเวียน ซึ่งพัฒนาด้วยเทคโนโลยี Blockchain ให้สามารถซื้อขายพลังงานหมุนเวียนระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
นี่คือตัวอย่างหนึ่งของความร่วมมือเพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานอนาคต ผลักดันการใช้พลังงานสะอาดและขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) นั่นเอง