Articlesบทความนักเขียน“การอุดหนุนราคาผลผลิตทางการเกษตร” การช่วยเหลือ หรือทำร้ายเกษตรกรในระยะยาว?

“การอุดหนุนราคาผลผลิตทางการเกษตร” การช่วยเหลือ หรือทำร้ายเกษตรกรในระยะยาว?

การอุดหนุนราคาผลผลิตทางการเกษตร เป็นหนึ่งในรูปแบบของการอุดหนุนที่มุ่งเน้นการสร้างหลักประกันราคาขั้นต่ำสำหรับการขายสินค้าทางการเกษตร ซึ่งการใช้กลไกนี้จะทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้นจากการอุดหนุนดังกล่าว แต่การอุดหนุนส่วนใหญ่มักเกิดจากบทบาทของภาครัฐ ทำให้กลายเป็นรายจ่ายที่ภาครัฐจำใจต้องแบกรับเมื่อต้องการจะดำเนินนโยบายนี้

 

การอุดหนุนราคาผลผลิตทางการเกษตรเป็นหนึ่งในกลุ่มนโยบายการอุดหนุนเกษตรกร ที่มีตั้งแต่การอุดหนุนราคาที่เป็นการสนับสนุนโดยตรง รวมทั้งการสนับสนุนทางอ้อมในรูปแบบของการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี เงินทุน ที่ดิน รวมทั้งการกำหนดนโยบายกีดกันการนำเข้าสินค้าทางการเกษตรจากต่างประเทศ เพื่อให้ราคาผลผลิตภายในประเทศยังอยู่ในระดับราคาที่สูงขึ้น

 

ซึ่งในด้านหนึ่งก็มีหลายคนที่สนับสนุนการอุดหนุนราคาผลผลิตทางการเกษตรทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะนโยบายดังกล่าวจะเป็นหลักประกันพื้นฐานที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้คึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่มีสัดส่วนประชากรในภาคเกษตรกรรมสูง ๆ นโยบายดังกล่าวจะส่งผลโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม

 

นโยบายการอุดหนุนราคาพืชผลทางการเกษตร นอกจากจะส่งผลดีในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นแล้ว  การอุดหนุนในจังหวะและวิธีการที่เหมาะสม เช่น การอุดหนุนอุปกรณ์เทคโนโลยีทางการเกษตร การเปิดตลาดสินค้าทางเกษตรสู่ต่างประเทศผ่านนโยบายรัฐ การฝึกอบรมด้านการเกษตร ฯลฯ จะเป็นการยกระดับการพัฒนาด้านการเกษตรในระยะยาว และย่อมเป็นการเพิ่มรายได้ในหมู่เกษตรกรอย่างยั่งยืน เมื่อนโยบายอุดหนุนที่เหมาะสมนั้นได้รับการผลักดันอย่างแท้จริง

 

อีกทั้งยังเป็นการซื้อใจประชาชนให้สนับสนุนการดำเนินนโยบายอื่น ๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะการอุดหนุนราคาโดยตรงที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นได้ทันที และทำให้เกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวสนับสนุนภาครัฐในทางการเมือง โดยเฉพาะในประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่ทำการเกษตรสูง

 

ทว่าก็มีข้อกังขาจากนโยบายการอุดหนุนราคาผลผลิตทางการเกษตรเช่นกัน ว่าเป็นการบิดเบือนกลไกตลาดอย่างร้ายแรงและทำให้ภาครัฐต้องแบกรับภาระของการอุดหนุนดังกล่าวในสัดส่วนมหาศาลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการอุดหนุนที่ราคาโดยตรงจะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการผลิตที่เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ และยังทำให้ผลผลิตที่ออกมามีแนวโน้มที่จะมีมูลค่าลดลงเรื่อย ๆ หากไม่ได้มีการกำกับดูแลที่ดี

 

นอกจากนี้ยังเป็นการลดแรงจูงใจของเกษตรกรที่จะแสวงหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขยายขีดความสามารถทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพด้วยตนเอง และรอคอยการสนับสนุนด้านการอุดหนุนราคาจากภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งจะยิ่งบั่นทอนศักยภาพทางการเกษตรและระบบเศรษฐกิจโดยรวมในระยะยาว 

 

เหตุผลที่การอุดหนุนราคาพืชผลทางการเกษตรแบบไร้ทิศทางจะเป็นการบั่นทอนศักยภาพการเกษตรและระบบเศรษฐกิจโดยรวมในระยะยาวนั้น เกิดจากการที่การอุดหนุนส่วนใหญ่มักจะเป็นการอุดหนุนที่ราคาโดยตรง และไม่ค่อยมีเงื่อนไขกำหนดมากเท่าไหร่นัก ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งเลือกที่จะผลิตสินค้าทางการเกษตรในเชิงปริมาณเพื่อนำมาป้อนสู่ตลาดสินค้าในราคาที่สูงกว่าปกติ และได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ และลดความสนใจในเรื่องการยกระดับคุณภาพของสินค้าทางเกษตรและการเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ลง

 

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว การอุดหนุนก็จะเป็นเพียงแค่มาตรการชั่วคราวที่อาจสามารถยกระดับราคาได้จริง แต่จะกลายเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ภาครัฐจะต้องแบกรับมหาศาล และไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้อย่างแท้จริง ทำให้เมื่อภาครัฐลดการอุดหนุนลง เกษตรกรก็จะได้รับผลกระทบโดยตรง และอาจทำให้เกิดวงจรอันตรายที่ภาครัฐจำใจต้องอุดหนุนราคาพืชผลทางเกษตรโดยตรงไปเรื่อย ๆ เพื่อรักษาความนิยมของเกษตรกรต่อภาครัฐ แม้ว่าจะเป็นรายจ่ายอุดหนุนสูญเปล่าที่ประเทศต้องแบกรับในระยะยาวก็ตาม

 

รวมทั้งยังเป็นการรั้งกลุ่มคนที่อยู่ในบริเวณภาคเศรษฐกิจที่มีมูลค่าต่ำให้ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป แทนที่จะให้กลไกตลาดบีบบังคับให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของสินค้าทางเกษตร หรือเพิ่มศักยภาพปริมาณผลผลิตต่อพื้นที่ให้สูงขึ้น หรือแม้แต่การย้ายไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นที่มีมูลค่าสูงกว่าตามกลไกตลาด เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจโดยรวมในระยะยาว และทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริงนั้นเกิดขึ้นในอัตราที่ช้าลง  เพราะกลไกตลาดในระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้ถูกบิดเบือนจนเสียหายรุนแรงไปแล้ว

 

ดังนั้น จึงไม่แปลกใจเลย ที่เมื่อมีการกล่าวถึงนโยบายการอุดหนุนราคาพืชผลทางเกษตรก็มักจะมีมุมมองที่ทั้งสนับสนุนและคัดค้านนโยบายดังกล่าวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในประเด็นของรายจ่ายจำนวนมากที่ต้องใช้ไปกับโครงการในลักษณะนี้ ซึ่งต่างก็เกิดขึ้นกับประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันทั้งสิ้น

 

สิ่งสำคัญที่สุด คือ นโยบายเศรษฐกิจที่ดีและสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรได้อย่างแท้จริงนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาในระยะยาวมากกว่าที่จะเพียงกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพียง เพื่อให้ผู้คนชื่นชอบและสนับสนุนการกระทำดังกล่าว แน่นอนว่าการพัฒนาในระยะยาวย่อมมีอุปสรรคและความท้าทายให้ต้องแก้ไขกันไป แต่เมื่อสามารถผ่านมาได้ ความลำบากและความพยายามขนานใหญ่ในการผลักดันนโยบายการพัฒนาระยะยาวก็ย่อมมีผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่ต่อทุก ๆ คน ที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอ

 

โดย ชย

อ้างอิง:

[1] Agricultural Subsidy Programs

https://www.econlib.org/library/Enc/AgriculturalSubsidyPrograms.html

[2] Subsidy

https://corporatefinanceinstitute.com/resources/economics/subsidy/

[3] World Trade Organization Talks on Agricultural Subsidies Should Consider Trade-Offs Among Trade, Food Security, and the Environment

https://www.iisd.org/articles/policy-analysis/wto-agricultural-subsidies-trade-offs

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า