Articlesย้อนรอยอดีตความล้มเหลวของนโยบาย “ปล่อยไปตามกลไกตลาด” ช่วงปลายราชวงศ์บูรบง

ย้อนรอยอดีตความล้มเหลวของนโยบาย “ปล่อยไปตามกลไกตลาด” ช่วงปลายราชวงศ์บูรบง

วันนี้สินค้าข้าวของพากันแห่ขึ้นราคา จนวลี “แพงทั้งแผ่นดิน” วนกลับมาให้ได้ยิน ซึ่งความแพงนี้ ไม่ได้เพียงแค่น้ำมันเท่านั้น ข้าวของเครื่องใช้ ก็พากันขึ้นราคาด้วยเช่นกัน [1] [2]

 

แน่นอน เรื่องนี้ ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาล เพราะต้นตอของปัญหา มาจากผลกระทบตามหลัง เนื่องมาจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกหยุดนิ่ง เครื่องยนต์ดับมานานถึง 2 ปี

 

และเมื่อโลกกำลังจะจุดติดเครื่องยนต์ ก็เกิดปัญหาความขาดแคลนในระบบห่วงโซ่อุปทานโลก และปัญหาอันเนื่องมาจากสงครามของรัสเซียในยูเครน

จากการวิเคราะห์ของ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงพลังงาน สรุปว่า สาเหตุหลักที่ทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น มีสาเหตุมาจาก ต้นทุนค่าขนส่งที่แพงขึ้นจากราคาน้ำมัน และต้นทุนการผลิตอาหารที่แพงขึ้น [3]

อย่างไรก็ตาม ในหลายครั้งที่มีของขึ้นราคา ก็มักจะมีคนที่มองโลกในแง่ดีพูดว่า มันเป็นไปตาม “กลไกตลาด” ซึ่งนี่คือแนวคิดหลักของนักเศรษฐศาสตร์สายฟิซิโอเครซี (Physiocracy) ซึ่งถือกำเนิดในช่วงปลายราชวงศ์บูร์บงของฝรั่งเศสพอดี

และนี่คือตัวอย่างของ ความล้มเหลวของนโยบาย “เลสเซส แฟร์” (Laissez-faire) ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “ช่างมันเถอะ” อันแกนหลักของอุดมคติ “ตลาดเสรี” ของสำนักฟิซิโอเครซี ซึ่งความล้มเหลวนี้ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 ในเวลาต่อมา

 

 

 อย่าเพิ่งรีบนำบทความนี้ไปพยากรณ์ว่า รัฐบาลนี้จะทำให้ประเทศล่มสลาย เหมือนกับการปฏิวัติฝรั่งเศส

ปัจจัยพื้นฐานด้านการคลังของรัฐบาลไทยในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับฝรั่งเศสในเวลานั้น มีความแตกต่างกันอย่างมาก

 

ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นอานิสงส์จากการปูรากฐานอันแข็งแกร่งของรัฐบาล ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 นั่นเอง

 

ปัญหาด้านการคลังของฝรั่งเศส เริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่ปลายรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สถานะด้านการคลังร่อยหรอจากการทำสงครามภายในยุโรปและอเมริกา และผลกระทบจากสภาวะ “ยุคน้ำแข็งน้อย” ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลกตกต่ำลง [4]

 

ในขณะที่รัฐบาลไทยในปัจจุบัน ถึงแม้จะเจอวิกฤติเศรษฐกิจ แต่พื้นฐานทางการคลังยังแข็งแกร่ง มีอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ เดือนพฤษภาคม 65 อยู่ที่ 60.87% [6] อีกทั้ง ไทยยังมีเงินทุนสำรองอยู่ที่ 8.17 ล้านล้านบาท สูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และถือว่าอยู่ในระดับมั่นคง [7]

แต่ภาวะของแพง กระทบต่อความรู้สึกของประชาชน และระดับความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลในทุกยุคสมัยอย่างแน่นอน

และความจริงแล้ว ประชาชนระดับรากหญ้า ไม่ได้กังวลร้อนใจกับสถานะทางการคลังของรัฐบาล ตราบเท่าที่รัฐบาลไม่มีการประกาศการ “ขึ้นภาษี”

ซึ่งนี่คือที่มาของความพยายามสุดท้ายของรัฐบาลพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ที่จะผลักดันการปฏิรูปการจัดเก็บภาษี ที่มีความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และต่อมาได้รับการพัฒนาจนกลายเป็น “อัตราภาษีก้าวหน้า” ที่ทั่วโลกใช้กันอยู่ในปัจจุบัน [8] [9]

 



อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดที่ร้ายแรงของเหล่านักเศรษฐศาสตร์ในราชสำนักบูร์บง ที่กลายเป็นชนวนแห่งความโกรธแค้นของประชาชนชาวปารีสในภายหลัง คือความเชื่อมั่นใน “ตลาดเสรี” และนโยบาย “เลสเซส แฟร์” (ช่างมันเถอะ) จนมากเกินไป

 

ประวัติศาสตร์ในยุคหลังได้พิสูจน์แล้วว่า แนวคิด “ตลาดเสรี” จะได้ผลดีในสภาวะที่ตลาดมีผลผลิตมากเพียงพอ แต่ในสภาวะที่ตลาดขาดแคลน ความเสรีกลับเปิดโอกาสให้พ่อค้าและนายทุนที่โลภมาก “ฉวยโอกาส” กักตุนสินค้า และโก่งราคา จนทำให้เกิดสภาวะ “ของแพง”

 

ตามกฎหมายเดิมของฝรั่งเศส ตำรวจมีหน้าที่ในการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินไปด้วยอีกหน้าที่หนึ่ง [4] แต่ในยุคที่ ฌัก ตูร์โก (Jacques Turgot) รับตำแหน่งเสนาบดีว่าการกระทรวงการคลัง

เขาสั่งให้ตำรวจหยุดการทำหน้าที่ควบคุมราคาสินค้า และปล่อยให้ราคาธัญพืชและแป้งขนมปัง “เป็นไปโดยเสรี”

 

นักเศรษฐศาสตร์ในยุคหลัง ค้นพบว่า ตลาดเสรีจะได้ผลดี ก็ต่อเมื่อ ตลาดมีสินค้าในระบบมากเพียงพอ

 

แต่ในสภาวะขาดแคลน ความโลภ ของคน, พ่อค้า และนายทุนทำให้เกิดภาวะกักตุน ซึ่งนั่นทำให้ “มือที่มองไม่เห็น” ทำงานผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น และราคาดีดสูงขึ้นเกินความจริง

ความโลภนั้นทำร้ายผู้บริโภคในระบบอย่างแสนสาหัส ทำลายรากฐานของระบบเศรษฐกิจจนพังทลาย

 

น่าเสียดาย ใน ค.ศ. 1775 ปัญหาการขาดแคลนธัญพืชและแป้ง ทำให้ราคาสินค้าถีบสูงขึ้น แต่ ฌัก ตูร์โก กลับเชื่อมั่นอย่างงมงายต่อนโยบาย “ช่างมันเถอะ” และ ตลาดเสรี

 

เขาละเลยต่อการเข้าแทรกแซงราคา อย่างที่รัฐบาลก่อนนี้เคยกระทำมา จนสุดท้าย เกิดการจลาจลไปทั่ว ซึ่งนักประวัติศาสตร์เรียกเหตุการณ์นี้ว่า “สงครามแป้ง”

 

ตูร์โกถูกปลดจากตำแหน่งในเวลาต่อมา และตำรวจถูกสั่งให้เข้าควบคุมราคาสินค้า จับกุมพ่อค้าผู้กักตุน ขายสินค้าแพงเกินจากที่กำหนด เหตุการณ์จลาจลจึงสงบลง

 

แต่ถึงแม้ว่าเหตุการณ์จลาจลจะสงบลง แต่ในใจประชาชนกลับเชื่อไปแล้วว่ารัฐบาลสร้าง “ภาคีแห่งความอดอยาก” เพื่อลดจำนวนประชากรชนชั้นสามัญชน ฆ่าทำลายพวกเขาลงนั่นเอง [4][5]

 

ประชาชนฝรั่งเศส ไม่เชื่อใจรัฐบาล ไม่ไว้วางใจราชสำนักบูร์บง เสียแล้ว

 

และนี่เป็นรอยร้าวแห่งความศรัทธาที่ประชาชนมีให้รัฐบาลบูร์บง ที่ถูกนำมาใช้ในการปลุกระดมให้ประชาชนต่อต้านรัฐบาล จนเกิดเป็น “ปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789” นั่นเอง

 



ถึงแม้เหตุการณ์นี้ จะไม่สามารถใช้เชื่อมโยงไปถึงการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ ตามที่ได้อธิบายไปแล้วข้างต้น

 

แต่กระทบถึงอารมณ์และความรู้สึกของประชาชนอย่างแน่นอน

 

นอกจากนี้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น จำเป็นต้องพึ่งพาการหมุนเวียนของเงินตราในระบบ

 

และราคาสินค้าที่แพงขึ้น ย่อมทำให้ประชาชนมีความต้องการที่จะจับจ่ายน้อยลง เนื่องจากกำลังซื้อที่ต่ำลง ทำให้การฟื้นฟูของระบบเศรษฐกิจของประเทศหยุดชะลอตัวลง

รัฐบาลจึงควรใส่ใจ พิจารณาทีมงานเก่าที่เคยร่วมงานกันมา และทำผลงานบริหารเศรษฐกิจของประเทศได้ดี

 

ให้พวกเขาได้กลับเข้ามาช่วยบริหารประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้ติดเครื่องใหม่ได้อย่างมั่นคงแข็งแรงยิ่งไปกว่าเดิม

นอกจากนี้ การสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ

 

หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลทำสิ่งดี ๆ ให้ประเทศไว้มากมาย ไม่ว่าจะยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เริ่มผลิดอกออกผล [11], การประยุกต์ใช้ Big Data ในการแก้ปัญหาความยากจน [12] และการสร้างเครือข่ายคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นผลงานที่โดดเด่นของท่านนายก ฯ ที่ปูทางมาตั้งแต่ พ.ศ. 2558

 

แต่ “น่าเสียดาย” แม้แต่ประชาชนที่รักท่านนายก ส่วนใหญ่ยังไม่รู้เลยว่าท่านได้ทำอะไรเอาไว้บ้างเลย

 

 

ทั้ง ๆ ที่ปีที่แล้ว มีการใช้งบประชาสัมพันธ์ไปตั้ง 2,422 ล้านบาท แต่สารที่สื่อไปถึงประชาชน กลับสู้ของคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่มีเพียงตัวคนเดียว ยังไม่ได้ [13]

 

ท่านนายก ฯ ควรพิจารณาทีมงานประชาสัมพันธ์ของท่านแล้วล่ะครับ

 

โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร

อ้างอิง :

[1] ของแพง แม่ค้าโอดหนัก ร้องครวญปีนี้เป็นปีแรกที่แพงที่สุด 
[2] ของแพงทั้งแผ่นดิน รัฐบาลอย่านิ่งเฉย 
[3] เพจ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เวลา 9:17 น. 

[4] พีรวุฒิ เสนามนตรี (พ.ศ. 2564), “ปฏิวัติฝรั่งเศส”, สำนักพิมพ์ยิปซี

[5] William Doyle (พ.ศ. 2564), “The French Revolution ปฏิวัติฝรั่งเศส”, ปรีดี หงส์สตัน แปล, สำนักพิมพ์ Bookscape

[6] สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง, “ข้อมูลหนี้สาธารณะคงค้าง ณ เดือน พฤษภาคม 2565”, 

[7] รัฐบาลเผย ไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศ 8.17 ล้านล้านบาท สูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก สถานะการเงินไทยยังแข็งแกร่ง 

[8] ศิลปะแห่งการจัดเก็บภาษี อ่านที่มาของอัตราภาษีก้าวหน้าและความเชื่อมโยงของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับโครงการคนละครึ่ง 

[9] ปิยบุตร แสงกนกกุล (พ.ศ. 2565), “ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส”, สำนักพิมพ์มติชน

[10] Pacte de Famine 

[11] เที่ยวบินโดยสารเชิงพาณิชย์ เชื้อเพลิงชีวภาพ 100%: ความสำเร็จในยุโรป ที่ส่งผลกระทบถึงประเทศไทย 

[12] TPMAP’ การประยุกต์ใช้ ‘Big Data’ เพื่อการต่อสู้กับปัญหาความยากจน ของรัฐบาล 

[13] เปิดงบฯ66 ‘กรมประชาสัมพันธ์’ ตั้ง 2.49 พันล้าน – รมว.ดิจิทัลฯรับรบ.อาจพีอาร์สู้ชัชชาติไม่ได้ 

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า