Articlesย้อนรอยคดีลอบสังหาร ค.ศ. 1960 ปีแห่งความเหตุต่างต้องสิ้นของญี่ปุ่น

ย้อนรอยคดีลอบสังหาร ค.ศ. 1960 ปีแห่งความเหตุต่างต้องสิ้นของญี่ปุ่น

นับเป็นที่น่าเศร้าสลดเสียใจ กับการจากไปของนายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จากการถูกลอบสังหารด้วยอาวุธปืน ในวันศุกร์ที่  8 กรกฎาคม ระหว่างการปราศรัย ที่เมืองนารา [1][2]


ซึ่ง ณ เวลานั้น หลายคนคาดเดาว่า แรงจูงใจของการลอบสังหาร อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับแนวนโยบายการต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับอเมริกา และการแผ่ขยายแสนยานุภาพทางทหารของ “กองกำลังป้องกันตนเอง” ของญี่ปุ่น [3]

 

เนื่องจากแนวคิดของนายอาเบะนั้น สนับสนุนการเป็นเอกราชของไต้หวัน ถึงขั้นจะส่งกำลังไปช่วยไต้หวันต่อต้านจีน และมีแนวทางที่จะเสริมสร้างแสนยานุภาพของกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น

และมีความประสงค์จะแก้ไขรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น เรียกคืนสถานะ “กองทัพญี่ปุ่น” ให้กลับมา

จนทำให้คนญี่ปุ่นบางส่วนเกรงว่า นายอาเบะกำลังจะนำพาญี่ปุ่นให้กลับสู่ยุค “จักรวรรดิ” หรือไม่ ?



หากย้อนประวัติศาตร์กลับไปมอง ปัญหาเรื่องสถานะภาพของ กองทัพอเมริกาในญี่ปุ่น และกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นนั้น คือปมปัญหาความแตกแยกทางความคิดของชาวญี่ปุ่น ที่นำไปสู่การประท้วงใหญ่ 2 ครั้ง ซึ่งทุกครั้งมีชื่อเรียกว่า “การประท้วงอัมโป” [4][5][6]

การประท้วงเกิดขึ้นหลายครั้ง พ.ศ. 2502 (ค.ศ. 1959) มีการประท้วง และมีการปราบปรามโดยเจ้าหน้าที่ มีการใช้ความรุนแรงจนมีนักศึกษาเสียชีวิตระหว่างการปราบปราม [23]

มีการปิดล้อมรัฐสภา, สถานทูตอเมริกา และบ้านพักนายกรัฐมนตรี

ในปีนั้น เจมส์ เฮเกอตี้ โฆษกทำเนียบขาวของประธานาธิบดีไอเซ็นฮาว เดินทางมาญี่ปุ่น แต่ถูกมวลชนชาวญี่ปุ่นนับ 6 พันคนปิดล้อมรถโดยสาร และถูกฝูงชนผู้เห็นต่าง ทุบทำลายรถโดยสารของเฮเกอตี้

จนสุดท้าย คณะของเฮเกอตี้ ต้องดิ้นรนหนีตาย ด้วยเฮลิคอปเตอร์ของนาวิกโยธินสหรัฐ ที่ถูกส่งมาช่วยเหลือนั่นเอง [4][5][6]



จุดสูงสุดของความตึงเครียดระหว่าง “สงครามทางความคิด” ของชาวญี่ปุ่นในครั้งนี้ นำมาซึ่งการลอบสังหารผู้นำทางการเมืองถึง 2 ท่าน

ท่านแรก “โนบุสุเกะ คิฉิ” นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น, ผู้นำพรรคเสรีประชาธิปไตยญี่ปุ่น และคุณตาของนายชินโซ อาเบะ

ท่านที่สอง นายอิเนจิโร อะซานุมะ ผู้นำพรรคสังคมนิยมญี่ปุ่น ซึ่งในเวลานั้น ครองเสียงในสภาไว้ได้ถึง 1 ใน 3

 

ที่น่าตระหนกคือ มือสังหารนายอะซานุมะ คือวัยรุ่นอายุ 17 ปีเท่านั้น

 

ขณะก่อเหตุ เขาใส่ชุดนักเรียน พุ่งเข้าสังหารนายอะซานุมะ ในระหว่างการโต้วาที ถ่ายทอดสดออกโทรทัศน์ช่อง NHK ทั่วญี่ปุ่น

อะไรคือที่มาของความแตกแยกทางความคิดในสังคมญี่ปุ่นในเวลานั้น?



แนวความคิดทางการเมืองต่าง ๆ ของญี่ปุ่น หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศภายหลังการปฏิรูปยุคเมจิ ค.ศ. 1868 ผ่านทางปรัชญานิพนธ์ และความรู้ต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นเปิดรับ นำเข้ามาสู่ประเทศของตน

ซึ่งนี่รวมไปถึงแนวคิดที่เป็นฝั่งขวา อย่างเสรีนิยม, อนุรักษนิยม และฟาสซิสม์

และที่เป็นซ้าย อย่างสังคมนิยม และ คอมมิวนิสต์ด้วย



ทว่า การล้มลงของราชวงศ์โรมานอฟ และการปฏิวัติ ค.ศ. 1917 ในรัสเซีย นำมาซึ่งความกลัวในลัทธิคอมมิวนิสต์ในญี่ปุ่น และปฏิเสธไม่ได้ว่า ในกลุ่มคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น มีแนวคิดที่จะโค่นล้มระบอบจักรพรรดิญี่ปุ่น ที่อยู่ยืนยงมายาวนานนับพันปีจริง

นี่คือที่มาของ “กฎหมายรักษาความสงบ” (治安維持法, ชิอัน อิจิ โฮ) และการกวาดล้างแนวคิดคอมมิวนิสต์ ค.ศ. 1925 (พ.ศ. 2468) นั่นเอง [7][8][9][10]

 

การยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขของญี่ปุ่น และการเข้ายึดครองญี่ปุ่นของอเมริกา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีเพียงพวกคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นเท่านั้น ที่ยินดีปรีดา และเห็นว่านี่คือโอกาสในการโค่นล้มจักรพรรดิญี่ปุ่นลง [8] ในช่วง 3 ปีแรก หลังจากที่อเมริกาเข้ามายึดครองญี่ปุ่น พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น (Japan Communist Party, JCP) ประสบความสำเร็จในการครองใจชนชั้นแรงงาน, ชาวนา และชนชั้นกลาง (ชนชั้นกระฎุมพี) ผ่านแนวนโยบาย “ปฏิวัติอย่างสงบ” ปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น นำพาให้สหภาพแรงงานจำนวน 3 ล้านคน เดินขบวนประท้วง แสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลนายกรัฐมนตรี ชิเงรุ โยชิดะ ปลดพนักงานการรถไฟออก 130,000 คน สามารถกดดันให้นายกรัฐมนตรีประกาศลาออกในวันที่ 24 พฤษภาคมได้สำเร็จ [8] [11] น่าเสียดาย เพราะการแทรกแซงของโจเซฟ สตาลินใน ค.ศ. 1950 ที่บีบบังคับให้พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นหันมาใช้ความรุนแรง ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นสูญเสียคะแนนนิยมไปอย่างรวดเร็ว [8][12][13][14]  —

ในช่วงแรกของการเข้ายึดครองญี่ปุ่น อเมริกามีแผนที่จะทำลายขั้วอำนาจเก่า นายทุนเก่าและ จักรพรรดิญี่ปุ่นจริง [15][16][17]

แต่ด้วยสภาพความเป็นจริงภายในญี่ปุ่น และแรงกดดันจากการเมืองภายนอกญี่ปุ่นอันเนื่องมาจากสงครามเย็นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

อเมริกาไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากลดสถานะเทพเจ้าของสมเด็จพระจักรพรรดิลงมา ยอมจับมือกับกลุ่มนายทุนเก่าอย่าง กลุ่มทุน “ไซบัตทสึ” ภายใต้ชื่อใหม่ว่า “เคเรทสึ” (系列) [18] แม้หลังจากที่อเมริกาจะถ่ายโอนอำนาจการปกครองตนเองกลับคืนไปสู่ชาวญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1952 (พ.ศ.2495) แต่สายสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ของญี่ปุ่น และพรรคเสรีประชาธิปไตยญี่ปุ่น (Liberal Democratic Party, LDP)  นั้นยังคงอยู่ โดยมี  CIA เป็นผู้ดำเนินการ [19] จึงอาจกล่าวได้ว่า ความแข็งแรงของฝ่ายขวา มีอเมริกาเป็นผู้สนับสนุนหลักนั่นเอง



นายโนบุสุเกะ คิฉิ คุณตาของนายชินโซ อาบะ ถูกระบุว่าเป็นกุญแจสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างญี่ปุ่นกับ CIA [19]  ถึงเขาจะมีแนวโน้มไปทางอเมริกา แต่เขาก็มีแนวคิดในการ “ฟื้นฟูญี่ปุ่นให้กลับมายิ่งใหญ่” ด้วยเช่นกัน  การก่อตั้ง “กองกำลังป้องกันตนเอง” คือบันไดขั้นแรกของเรา ในการฟื้นฟูกองทัพและแสนยานุภาพของญี่ปุ่นนั่นเอง (ซึ่งอาเบะผู้หลาน ก็รับสืบทอดแนวคิดนี้ต่อมา)

นอกจากนี้ เขายังดำเนินการผ่านนโยบายทางการทูต ให้การช่วยเหลืออดีตประเทศที่เคยถูกกองทัพญี่ปุ่นยึดครอง ผ่านการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน ซึ่งแนวคิดนี้คือที่มาของ “ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย” หรือ ADB (Asian Development Bank) นั่นเอง [20][21] —

ย้อนกลับมามองฝ่ายซ้าย แนวคิดฝ่ายซ้าย ไม่ได้มีเพียงคอมมิวนิสต์เพียงเท่านั้น แต่ยังมีอีกสายหนึ่ง นั่นคือ สังคมนิยม  และพรรคการเมืองใหญ่ในสายสังคมนิยมนี้คือ “พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยญี่ปุ่น” (Japan Socialist Party, JSP)  นั่นเอง [22] อุดมการณ์ของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับสวัสดิการ และคุณภาพชีวิตของชนชั้นแรงงาน, เกษตรกร และชนชั้นกลาง แต่ปฏิเสธแนวคิดมาร์กซิสม์ และคอมมิวนิสต์โดยสิ้นเชิง [23]  และผู้นำพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยญี่ปุ่น ซึ่งครองเสียงส่วนใหญ่ของฝ่ายซ้ายเอาไว้คือ นาย อิเนจิโร อะซานุมะ



ความแตกต่างทางความคิดในญี่ปุ่น ณ เวลานั้น แบ่งได้เป็น 3 ชุดความคิดใหญ่ ๆ ดังนี้

1. ฝ่ายขวา พรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย (LDP) มีโนบุสุเกะ คิฉิ เป็นผู้นำ เขาเห็นว่า ญี่ปุ่นควรจะเดินตามอย่างชาติตะวันตก ที่มีอเมริกาเป็นผู้นำ
2. ฝ่ายซ้าย – คอมมิวนิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น (JCP) เห็นว่า ญี่ปุ่นควรเดินตามแบบอย่างคอมมิวนิสต์สายโซเวียต-สตาลิน
3. ฝ่ายซ้าย – สังคมนิยม พรรคสังคมนิยมญี่ปุ่น (JSP) เห็นว่า ญี่ปุ่นควรจะสร้างแนวทางตามอย่างของตัวเอง ให้ความสำคัญกับรากเหง้าของตนเองเป็นสำคัญ

ซึ่งถ้าพิจารณาให้ดี ๆ จะเห็นว่า ญี่ปุ่น ในเวลานั้น สะท้อนภาพการเมืองโลกที่แบ่งออกเป็น 3 ขั้วคือ อเมริกา, โซเวียต และจีน

— น่าเสียดายที่ พรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งครองอำนาจการปกครอง เลือกใช้วิธีการปราบปรามการประท้วงอย่างรุนแรง  ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น ที่แทบจะไม่มีที่นั่งในสภา เลือกใช้วิธีการปลุกระดมมวลชนให้ออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน และใช้ความรุนแรง

ส่วนพรรคสังคมนิยมญี่ปุ่นเอง ที่ครองที่นั่ง 1 ใน 3 ของสภา ก็แสดงท่าที่ที่รุนแรง ไม่ประนีประนอมต่อรัฐบาลด้วยเช่นกัน

ต่างฝ่ายต่างทะเลาะกัน ไม่มีใครยอมใคร

การประท้วงอัมโป ที่ได้เกริ่นถึงในตอนต้น จึงเต็มไปด้วยความรุนแรง มีการใช้ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจปะทะกับมวลชน และมวลชนปะทะมวลชน

มีแต่ความขัดแย้งและวุ่นวาย มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในเหตุการณ์  [23]

จนวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 (ค.ศ. 1960) นายคิฉิ ถูกชายคนหนึ่งลอบสังหาร ด้วยการใช้มีดแทงเขาถึง 6 ครั้ง แต่ไม่ตาย [24][25][26] แต่กระนั้น เขาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใน 5 วันถัดมา  [26] โดยตำแหน่งนายก ฯ ถูกส่งต่อให้นาย ฮายาโตะ อิเคดะ [5]

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการลาออกของนายคิฉิ นำมาซึ่งการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2503 (ค.ศ. 1960)

สถานีโทรทัศน์ NHK จึงเป็นเจ้าภาพจัดรายการโต้วาทีระหว่าง นายกรัฐมนตรี ฮายาโตะ อิเคดะ ผู้นับพรรคเสรีประชาธิปไตย, นายชูอิฮิโระ นิชิโอะ ผู้นำพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย และนายอิเนจิโร อะซานุมะ ผู้นำพรรคสังคมนิยมญี่ปุ่น ในวันที่ 12 ตุลาคม

ในระหว่างการดำเนินรายการ ซึ่งมีผู้รับชมในงาน 2,500 คนและมีการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ ในระหว่างที่นายอะซานุมะขึ้นปราศรัย ปรากฏนักเรียนชายคนหนึ่ง อายุ 17 ปี พุ่งเข้าใส่นายอะซานุมะบนเวที ใช้มีดยาว 1 ฟุต แทงใส่นายอะซานุมะ จนถึงแก่กรรมในเวลาต่อมา [27][28][29]

ฆาตกร นายโอโตยะ ยามากุจิ เป็นเพียงเยาวชนอายุ 17 ปีเท่านั้น แต่ว่าเขากลับเป็นสมาชิกกลุ่มขวาจัดหัวรุนแรง และมีส่วนร่วมในการประท้วงอัมโปหลายครั้ง [30] และภายหลังเหตุการณ์ ยามากุจิถูกจองจำในคุก และถูกพบว่าแขวนคอตายในห้องขัง วันที่ 2 พฤศจิกายน โดยในห้องขังพบคราบยาสีฟันเขียนข้อความ “หวังว่าฉันจะมีเจ็ดชีวิตเพื่อชาติของฉัน” [23][30]



สิ่งที่น่าสะท้อนใจคือ คนญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น แท้จริงแล้ว ต่างฝ่าย ต่างก็มุ่งหวังที่จะทำเพื่อประเทศชาติของตนเองทั้งสิ้น

ทั้งอะซานุมะ ผู้ถูกฆ่า หรือ ยามากุจิ ผู้สังหาร

ต่างก็ล้วนแต่มีจิตใจที่รักชาติด้วยเหมือนกันทั้งสิ้น เพียงแค่มีมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างกัน

กลับต้องประหัตประหารกันอย่างน่าเสียดาย

และแม้แต่โนบุสุเกะ คิฉิ คุณตาของนายอาเบะ เขาเองก็รักชาติไม่ได้น้อยไปกว่าใคร แต่กลับกลายเป็นเหยื่อการลอบสังหารด้วยเช่นกัน

ทั้งหมดนี้นั้น ล้วนเป็นเพราะบรรยากาศทางการเมืองที่ตึงเครียด ไม่มีใครยอมลดราวาศอกลงให้ใคร

วันนี้ หันมามองบรรยากาศการเมืองไทย ที่มีบางคนพยายามปลุกม๊อบ จัดการชุมนุม หวังสร้างเหตุให้เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน

โชคยังดี ที่วันนี้ ท่านผู้ว่า ฯ ชัชชาติจัดระเบียบการชุมนุม เปิดพื้นที่การแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย โดยลดโอกาสเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ​กับประชาชน


สุดท้ายนี้ หวังว่า คนไทยทุกหมู่เหล่าจะหันหน้าเข้าหากัน เจรจาประนีประนอมระหว่างกันด้วยหลักการและเหตุผลตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์พระประมุขอย่างสงบ สันติ อหิงสา ในแบบที่อารยชนผู้มีวัฒนธรรมแล้วเขากระทำกัน

 

โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร 

อ้างอิง :

[1] ‘ชินโซ อาเบะ’ ถูกลอบสังหาร 

[2] เปิดประวัติ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีที่ครองตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น 

[3] เฟสบุค Kornkit Disthan วันที่ 8 กรกฎาคม 65 เวลา 11:42 น. 

[4] Anpo protests 

[5] The Anpo protests of 1960s Japan 

[6] 1960 Tokyo ANPO Protests 

[7] Japanese Communist Party 

[8] Communist Attempts to Take Over Japan in the 1950s – COLD WAR

[9] Peace Preservation Law 

[10] Special Higher Police 

[11] The 1947 Labor Crisis and the Defeat of Yoshida 

[12] Red Purge/ Conflicts in 1950 

[13] Mountain Village Operation Units 

[14] Japanese Communist Party/Red Purge and turn to violence 

[15] Occupation of Japan 

[16] What Happened to Japan after WW2? (How’d It Happen? History) 

[17] [Documentary] Tokyo post-World War 2 (Tokyo Black Hole) 東京ブラックホール 

[18] Reverse Course/Legacies and consequences 

[19] CIA activities in Japan/ Interference in Japanese politics 

[20] Nobusuke Kishi/ Prime Minister of Japan 

[21] Asian Development Bank/ History 

[22] Japan Socialist Party 

[23] Inejiro Asanuma: Japan’s National Martyr 

[24] The assassination attempt of Nobusuke Kishi 

[25] Past assassinations and attacks on Japanese politicians 

[26] Nobusuke Kishi/ Stabbing incident 

[27] The Assassination of Inejirō Asanuma – Short History Documentary 

[28] Assassination of Inejirō Asanuma 

[29] Right-wing groups celebrate assassination of politician Inejiro Asanuma in Tokyo 50 years later 

[30] Otoya Yamaguchi 

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า