Articlesทำความเข้าใจถึงข้อจำกัดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรุกล้ำ ที่ราชพัสดุ และแนวนโยบายการแก้ไขปัญหาของราชการไทย

ทำความเข้าใจถึงข้อจำกัดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรุกล้ำ ที่ราชพัสดุ และแนวนโยบายการแก้ไขปัญหาของราชการไทย

ท่ามกลางเกมการหาเสียงของผู้สมัครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทุกท่านต่างก็งัดนโยบาย ข้อเสนอต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อดึงดูดใจ เรียกคะแนนเสียงทั้งสิ้น
และเป็นข้อเท็จจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ หลายครั้งนั้น ผู้สมัครนั้นหาเสียงเกินจริง เกินขอบเขตอำนาจและความสามารถของผู้ว่าฯ กทม

หนึ่งในนโยบายที่ไม่เพียงจะถูกยกชูขึ้นมาในครั้งนี้ แต่เคยถูกยกชูมาก่อนในอดีต และไม่เคยทำได้สำเร็จ ด้วยอำนาจของผู้ว่า ฯ กทม คือปัญหาชุมชนของประชากรที่อยู่อาศัยบนที่ราชพัสดุ ซึ่งเป็นสมบัติของรัฐนั่นเอง

—-

ปัญหาการหลั่งไหลเข้ามาของประชากร สู่เมืองอุตสาหกรรม และศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นและพบได้ทั่วไปในช่วงศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมา [1] [2] [4] ซึ่งนี่รวมไปถึงกรุงเทพมหานครด้วยเช่นกัน

ความเติบโตของกรุงเทพ ฯ นั้น จากการสำรวจใน พ.ศ.  2490 พบว่ากรุงเทพมีประชากรเกินล้านคนมาตั้งแต่นั้นแล้ว และมีจำนวนประชากรมากกว่าเชียงใหม่ ซึ่งมีประชากรเป็นอันดับ 2 มากถึง 21 เท่า [3]

และเนื่องด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติฉบับที่ 1-3 (พ.ศ. 2504-2519) ที่เน้นหนักไปที่การพัฒนากรุงเทพ ยิ่งเป็นแรงดึงดูดให้เกิดการเคลื่อนย้ายประชากรจากต่างจังหวัดสู่กรุงเทพ ฯ จนทำให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฯ ฉบับที่ 4-6 (พ.ศ. 2520-2534) มีการขยายความเจริญออกไปยังพื้นที่ปริมณฑลด้วย และกลายเป็นที่มาของคำ “กรุงเทพและปริมณฑล” (Bangkok Metropolitan Region: BMR) [4]

การหลั่งไหลเข้ามาด้วยจำนวนประชากรที่มหาศาล ภายใต้พื้นที่อันจำกัด บวกกับอัตราการเกิดที่เพิ่มขึ้น และอัตราการตายที่ลดลงในห้วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ย่อมทำให้เกิดปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ชุมชนแออัดในเมืองใหญ่ [1] [4]

กระทั่งรัฐบาลไทยเริ่มตระหนักถึงปัญหาการรุกล้ำที่ดินของรัฐอย่างจริงจัง และเริ่มวางแนวทางการแก้ปัญหาใน พ.ศ. 2535 โดยการกำหนดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วย การแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2535 ขึ้น [5] 

และนี่คือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนผู้เข้ามาอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐนั่นเอง

—-

นิยามของคำ “ที่ดินของรัฐ” โดยสรุปแล้ว แบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ ที่ดินสาธารณะ และที่ราชพัสดุ 

ซึ่งความหมายของ “ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน” นั้นหมายถึง ที่รกร้างว่างเปล่า ที่ถูกกำหนดให้พลเมืองใช้ร่วมกัน หรือ เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินเฉพาะ [6]

ในขณะที่ “ที่ราชพัสดุ” นั้นหมายถึง อสังหาริมทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทุกชนิด, ที่ดินที่สงวนหรือหวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ และที่ดินที่สงวนหรือหวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ของทางราชการตามกฎหมาย [7] 

กฎหมายที่ดินที่เกี่ยวข้องกับที่ราชพัสดุ มีหลายฉบับ ตามประเภทของที่ดิน และกระทรวงผู้รับผิดชอบ เช่น ที่ดินป่าสงวน ที่ดินอุทยานแห่งชาติ ขึ้นตรงต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้ พรบ. ป่าสงวนแห่งชาติ [8]
โดยมี กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เป็นผู้รับผิดชอบทำบัญชี และรับผิดชอบดูแลที่ราชพัสดุ ที่ยังมิได้ถูกโอนไปให้หน่วยงานราชการอื่นรับช่วงต่อดูแล [7]

(ที่ดินในความครองครองของสำนักงานส่วนพระมหากษัตริย์ ถือเป็นที่ดินเอกชน ไม่ใช่ที่ดินของรัฐ)

ที่ดินริมทางรถไฟก็เช่นกัน ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ ที่กระทรวงคมนาคมร้องขอนำไปใช้ประโยชน์จากกรมธนารักษ์ และอำนาจใด ๆ ที่เกี่ยวข้องการกับการทำให้ที่ราชพัสดุผืนนี้ตกมาอยู่กับชุมชนนั้น ล้วนนอกเหนือขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ กทม

ที่สำคัญที่สุดเลย
ผู้ได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนถ่ายที่ราชพัสดุ มาสู่มือของเอกชน คือประชาชนกลุ่มหนึ่ง ในขณะที่ผู้เสียผลประโยชน์นั้นคือ “รัฐ” ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

การเปลี่ยนถ่ายนี้ “เอื้อประโยชน์” แก่คนกลุ่มหนึ่งหรือไม่ ? นี่เป็นเรื่องที่จะต้องถูกตั้งคำถาม จนถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล และเคยมีตัวอย่างให้เห็นมาก่อนแล้ว หลายคดี
ต่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี หากใช้อำนาจโอนย้ายที่ราชพัสดุให้ชุมชนโดยพลการ ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องจนกลายเป็นคดีในข้อหาใช้อำนาจโดยมิชอบ ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ได้เหมือนกัน

แต่นี่มิได้หมายความว่า รัฐไม่อนุญาตให้ประชาชนใช้สอยพื้นที่ราชพัสดุ หรือสาธารณสมบัติเลย รัฐมีแนวทางในการใช้ที่ดินทุกตารางวาให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนสูงสุดเช่นกัน 

ในปัจจุบัน หน่วยงานหลักที่มุ่งแก้ปัญหาชุมชนแออัด และปัญหาการรุกล้ำที่ราชพัสดุอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่กรุงเทพมหานครคือ “สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน)” โดยการเข้าไปสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมระหว่างชาวชุมชนกับภาครัฐ ซึ่งรวมไปถึง “กรุงเทพมหานคร” ด้วย [9]

มีการจัดหาที่ดินสาธารณะ หรือที่ดินวัด ในการพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงเพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอ และมีความเหมาะสมกับสภาพการอยู่อาศัย อีกทั้งให้มีการทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่รุกล้ำริมคลอง ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงให้เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี สิ่งแวดล้อมสวยงามและมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย [9]

โดยล่าสุด วันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครมีชุมชนที่พัฒนาบ้านมั่นคงแล้ว 32 เขต รวม 80 ชุมชน จำนวน 10,257 ครัวเรือน ในที่ดินทรัพย์สิน 32 โครงการ ที่ดินเอกชน 28 โครงการ ที่ดินธนารักษ์ 10 โครงการ ที่ดินท่าเรือ 5 โครงการ ที่ดินวัด 2 โครงการ ที่ดินสาธารณะ 1 โครงการ ที่ดินมูลนิธิ 1 โครงการ และที่ดินรถไฟ 1 โครงการ [9]
ไม่ว่า ใครก็ตามจะเข้ามาเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปัญหาการรุกล้ำที่ดินราชพัสดุ ก็กำลังได้รับการพัฒนาแก้ไข เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวกรุงเทพให้อยู่ดีมีสุขกันทั่วหน้าอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม
ตามที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในช่วงต้น ว่าต้นตอของปัญหาชุมชนแออัดในเขตเมือง และปัญหา “คนจนเมือง” นั้น มาจากปัญหาทางด้านประชากรศาสตร์
และรัฐเองก็ตระหนักถึงปัญหาความแออัดของกรุงเทพมาตั้งแต่ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฯ ฉบับที่ 1-3 (พ.ศ. 2504-2519) และพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการ “กระจาย” ความเจริญ (และความแออัด) ออกไปสู่พื้นที่รอบ ๆ ในแผนฉบับถัด ๆ มา [4]
กาลเวลา 60 ปี นับตั้งแต่แผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 1 เมื่อเราเข้าไปดูในเว็บ “ภาษีไปไหน” ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข้อมูลเปิดของภาครัฐ เราจะเห็นได้เลยว่า งบประมาณภาครัฐในแต่ละจังหวัด ถูกกระจายออกไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย [10]

ปัจจุบัน มีหลายโครงการที่กระจายความเจริญไปสู่ชนบทห่างไกล อาทิ “โครงการระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” (Greater Mekong Subregion Economic Corridors: GMS Economic Corridors)   ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ครอบคลุมการพัฒนาประเทศไทยทั้งประเทศ [11]
ซึ่งนี่จะเป็นการช่วยแก้ปัญหา “คนจนชนบท” ซึ่งเมื่อคนจนชนบท สามารถลืมตาอ้าปากได้ และมีรายได้ที่พอเพียงในพื้นที่บ้านเกิดของตนเอง ก็จะเป็นการดึงดูดคนจากพื้นที่เขตเมือง ให้กระจายออกไปสู่ชนบท ลดความแออัดลงได้

สรุปแล้ว

การแก้ปัญหาการรุกล้ำที่ดินราชพัสดุในเขตกรุงเทพมหานครนั้น เป็นที่ตระหนักถึงโดยภาครัฐมาเป็นเวลายาวนานแล้ว และมีความพยายามผลักดันแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด โดยมีองค์กร หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบชัดเจนอยู่แล้ว ภายใต้พันธกิจการประสานงานโดยกรุงเทพมหานคร
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทุกคน มีหน้าที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่แออัดโดยตำแหน่งและหน้าที่อยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเอามาโฆษณาหาเสียงแต่อย่างใด
และหากท่านใดมีปณิธานในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่เหล่านี้อย่างจริงใจ พวกท่านควรจะลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวชุมชน ให้มาเข้าร่วมกับ “โครงการบ้านมั่นคง” ซึ่งนี่ เป็นช่องทางที่ถูกกฎหมาย และได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม
สุดท้ายนี้ การแก้ปัญหาชุมชนแออัดที่ถูกต้องและยั่งยืน คือการกระจายความเจริญจากเมืองสู่ชนบท ซึ่งภาครัฐนั้น “ตระหนักรู้” ในปัญหาและทางออกนี้อยู่แล้วไม่น้อยกว่า 40 ปี ซึ่งในภาคปฏิบัติ มีโครงการพัฒนาเศรษฐกิจมากมายที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทยของเรา
หากท่านผู้สมัครมีความจริงใจ และใส่ใจในปัญหานี้อย่างจริงจัง ท่านควรจะอำนวยความสะดวกให้หน่วยงาน และประชาชนให้พวกเขาได้เชื่อมโยงกัน เกิดการพัฒนาร่วมกัน
ซึ่งท่านสามารถทำได้ในทันที ไม่ต้องรอให้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร

อ้างอิง :

[1] การอพยพหรือการย้ายถิ่น (Migration) 

[2] “The Russia Revolution: ปฏิวัติรัสเซีย”, ภัทรพล สมเหมาะ พ.ศ. 2561, สำนักพิมพ์ยิปซี

[3] กรุงเทพมหานคร: เมืองโตเดี่ยวตลอดกาลของประเทศไทย (พ.ศ. 2550) 

[4] พลวัตประชากรของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พ.ศ. 2557-2559 (พ.ศ. 2562) 

[5] การแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (พ.ศ. 2546) 

[6] การจัดการที่ดินของรัฐ โดยสำนักงานจัดการที่ดินของรัฐ กรมที่ดิน 

[7] พระราชบัญญัติ ที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๖๒ 

[8] พระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๐๗ 

[9] กทม.เดินหน้าสร้างบ้านมั่นคง พร้อมจัดหาที่ดินเพิ่มเติม 

[10] ภาษีไปไหน? ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ /ภาพรวม /ลักษณะงาน  /งบประมาณ

[11] รู้จักระเบียงเศรษฐกิจ อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง “GMS Economic Corridors” 

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า