Articlesถึงเวลาที่คนไทย จะตื่นตัว ไม่ยินยอมต่อพฤติกรรมการดูหมิ่นเหยียดหยาม พร้อมทั้งผลักดันกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการดูหมิ่นเหยียดหยามได้แล้วหรือยัง

ถึงเวลาที่คนไทย จะตื่นตัว ไม่ยินยอมต่อพฤติกรรมการดูหมิ่นเหยียดหยาม พร้อมทั้งผลักดันกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการดูหมิ่นเหยียดหยามได้แล้วหรือยัง

ท่ามกลางกระแสการแบนลาซาด้า จากการใช้เนื้อหาที่ทำให้คนดูหลายคนรู้สึกว่า “ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้ป่วย” โดยผู้ป่วยคนดังกล่าว ทำให้หลายคนเข้าใจว่าเป็น “เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน” ซึ่งทำให้คนไทยรู้สึกว่า “รับไม่ได้” และยื่นถอดถอนบัญชีของตนเองออก ตั้งแต่ผู้ซื้อ ผู้บริโภค ลงมาจนถึงตัวผู้ขายสินค้าเอง

อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนหนึ่ง ให้ความเห็นว่า ทีมผู้บริหารคงมีการพิจารณาแล้วว่า เนื้อหาลักษณะนี้ น่าจะถูกใจผู้บริโภคจำนวนหนึ่ง ซึ่งน่าจะมากพอที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ทางการตลาด

จึงตัดสินใจอนุมัติโฆษณาชุดนี้ออกมา

และโชคร้าย ที่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปดั่งหวังนั่นเอง

—-

แต่เป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่สังคมไทย “จะต้อง” ยอมรับ อย่างกลืนไม่เข้า คายไม่ออก ว่า “วัฒนธรรมการเหยียดหยามดูหมิ่น” คือเงามืดที่แฝงตัวอยู่ในสังคมไทยมาอย่างช้านาน

ไม่ว่าจะผ่านภาพยนตร์ไทยในหลาย ๆ เรื่องที่มีฉากตลก ที่มีเนื้อหาดูหมิ่นเหยียดหยามคนจน คนหน้าตาไม่ดี คนอ้วน คนผิวคล้ำ คนอีสาน และคนใช้

และคนไทยเราก็รู้สึกตลกไปกับหนัง โดยไม่ได้รู้สึกว่ามันคือพฤติกรรมการดูหมิ่นเหยียดหยาม ที่ไม่สมควรจะได้รับการยอมรับ

แต่เราก็ซึมซับมันไปโดยที่แม้แต่เราก็ไม่รู้ตัว

จากรายงานของกรมสุขภาพจิต และ Amnesty International Thailand กล่าวสอดคล้องกันว่า “สังคมไทยนั้นเคยชินกับพฤติกรรมการเหยียดหยาม” [1] [2]

นี่คือความเคยชิน ที่มันไม่ควรจะมี แต่เราก็มี มันแฝงตัวอยู่รอบ ๆ สังคมไทยของเรานั่นเอง

—-

ดราม่าครั้งนี้ บังเกิดเพราะคนในโฆษณา ทำให้หลายคนรู้สึกว่าคลับคล้ายกับบุคคลอันเป็นที่รักของคนไทยจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนมากเพียงพอที่จะทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนไปทั่วประเทศ

แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็มักจะถูกเหยียดหยามโดยฝ่ายที่ไม่ชอบสถาบัน เพียงเพราะพระเนตรของพระองค์บอดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์

ซึ่งในมุมนี้นั้น ไม่มีใครพึงพอใจจากการทุพพลภาพสูญเสียอวัยวะ จากการประสบอุบัติเหตุอย่างแน่นอน

และในคนเหล่านั้น คงไม่มีใครยินดีที่มีการนำลักษณะที่พิการคล้ายกับตนเองมาล้อเลียน ดูหมิ่นเหยียดหยาม

ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะเป็นพระมหากษัตริย์ หรือขอทานก็ตาม

น่าเสียดาย

คนเหยียดหยามเองก็ไม่ได้คิดว่า การกระทำของเขานั้น คือการเหยียดหยามคนตาบอดคนอื่น ๆ ไปด้วย

เป็นการวิพากษ์โดยอารมณ์ ที่ขาดการใคร่ครวญ

และละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า “คนตาบอด ไม่ใช่คนไร้ความสามารถ อยู่ที่ว่าสังคมจะเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงออก หรือเหยียบย่ำให้เขาจมลงไป ก็เท่านั้นเอง”

—-

ผลการสำรวจของกรมสุขภาพจิต พบว่าการใช้ความรุนแรง การข่มเหงรังแกกันหรือการบูลลี่ในประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศญี่ปุ่น [1]

นี่นับว่าเป็นเรื่องที่น่าตระหนก เพราะตามที่ปรากฏในการ์ตูนมังงะญี่ปุ่น  และมันหวาของเกาหลีหลายเรื่อง ที่เล่าถึงการรังแกกันในโรงเรียน จนเป็นเหตุให้มีนักเรียนบางคนฆ่าตัวตาย แต่ประเทศไทยที่ไม่มีการ์ตูนหรือสื่อลักษณะดังกล่าวเลยนั้น

กลับมีตัวเลขการกลั่นแกล้งในโรงเรียนที่น่าตระหนกไม่แพ้สองชาติที่กล่าวมาเลย

แท้จริงแล้ว สังคมไทยของเรากำลังวิกฤติในระดับไหนกัน ?

—-

ในประเทศไทยของเรา ระดับความตระหนักรู้ของสังคม ถึงปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกนั้น ยังจำกัดอยู่ที่ในสถานศึกษา ในโรงเรียนเพียงเท่านั้น

ในขณะที่ในหลายประเทศนั้น ความตระหนักรู้ถึงปัญหาได้ขยายรวมไปจนถึงการกลั่นแกล้งในที่ทำงาน สถานประกอบการ และในสังคม

จากรายงานของ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักนายกรัฐมนตรี เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2564 เรื่อง “มาตรการในการต่อต้านและการคุ้มครองบุคคลจากการถูกกลั่นแกล้งในสังคม” มีการกล่าวถึงสถานการณ์การรังแกกลั่นแกล้งในสังคมอเมริกา ยุโรป สวีเดน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ พร้อมทั้งมาตรการแก้ไขในทางกฎหมายของแต่ละประเทศ [4]

ในสหภาพยุโรป สวีเดนถือเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในการจัดการกับปัญหาการดูหมิ่นเหยียดหยาม และการกลั่นแกล้ง ซึ่งถือว่าเป็นการ “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” [4]

โดยสวีเดน มีการออกกฎหมายเฉพาะ เพื่อรับมือกับการกลั่นแกล้ง ดูหมิ่นเหยียดหยามโดยตรง อาทิเช่น the Non-Contact Orders Act (กฎหมายว่าด้วยการไม่สัมผัส) , Discrimination Act (กฎหมายว่าด้วยการเลือกปฏิบัติ) , Victimization at Work (กฎหมายว่าด้วยการทำให้เป็นเหยื่อในสถานที่ทำงาน) ในสวีเดน [4]

ซึ่งนี่ทำให้กระบวนการของสวีเดน ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาในการตีความทางกฎหมาย เนื่องด้วยตัวกฎหมาย มีความชัดเจนในตัวเอง ทำให้สะดวกต่อการทำการศึกษาและทำความเข้าใจของบุคคลทั่วไปนั่นเอง

—-

ในประเทศไทยนั้น

น่าเสียดายที่ ณ ปัจจุบัน กฎหมายไทย ทำได้เพียงการอาศัยการตีความตามประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งยังมีความคลุมเครือ และยังไม่เพียงพอ

ในประมวลกฎหมายอาญา เพียงครอบคลุมถึง “การหมิ่นประมาท” “การให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ” “การกลั่นแกล้งข่มเหงรังแก คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอาย” “ผิดฐานทำร้ายร่างกาย” [4]

แต่ปัญหาของกฎหมายเหล่านี้คือ ผู้เสียหาย (โจทก์ ผู้ฟ้อง) จะต้องพยายามสรรหาหลักฐานมาพิสูจน์ให้ได้ด้วยว่า ผู้กระทำ (จำเลย) นั้น หมายถึงตนเองจริงจริง

และมักจะถูกยกฟ้อง เมื่อผู้กระทำ แสดงออกโดยคลุมเครือ เพื่อเล่นแง่ เลี่ยงบาลี หลบเลี่ยงกฎหมายนั่นเอง [5]

จุดอ่อนใหญ่ที่สุดของกฎหมายไทยในปัจจุบันคือ โจทก์จะต้องเป็นผู้เสียหายจากการกระทำของจำเลย ทางใดทางหนึ่ง และการกระทำของจำเลยจะต้องถูกพิสูจน์ชัดว่า เป็นการระบุถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง [6] จะเจ็บแค้นแทนกันมิได้

(ยกเว้น กรณีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ผู้เสียหายไม่มีสิทธิฟ้อง และผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหาย)

ซึ่งนี่ มิได้คุ้มครองในกรณีที่มีการล้อเลียนคุณลักษณะบางประการ ที่เกิดขึ้นโดยความ “โชคร้าย” บางประการ อาทิ ความเจ็บป่วยทางกาย, ความพิการ

หรือความแตกต่างโดยกำเนิดเช่น เชื้อชาติ, สีผิว, ลักษณะทางพันธุกรรม

หรือสถานะทางสังคม เช่นอาชีพ หรือสถานะทางการเงิน

การเล่นละคร มุกตลก ที่ล้อเลียนความพิการทางกายของบุคคลบางคน ผู้กระทำ อาจจะกระทำโดยมิได้หมายถึงบุคคลใด ๆ ในสังคมเลย

แต่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้แก่ผู้ที่มีสภาพคล้ายคลึงกัน ทำให้เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ

ในกรณีนี้ คนเหล่านี้ ทำได้เพียงร้องตะโกน แต่กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทย ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรพวกเขาได้เลยแม้แต่นิดเดียว

—-

ในออสเตรเลีย เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการดูหมิ่นเหยียดหยาม โดยออสเตรเลีย เริ่มพัฒนามาจาก กฎหมายการเลือกปฏิบัติโดยสีผิว 1975 (Racial Discrimination Act 1975)[7]

จนปัจจุบันนั้น กฎหมายต่อต้านการเหยียดหยามของออสเตรเลียนั้น ไม่เพียงครอบคลุมไปถึงการเหยียดหยามลักษณะทางกายภาพ (สีผิว, รูปร่างหน้าตา, ส่วนสูง, ขนาดร่างกาย), อายุ, ความเจ็บป่วย, ความพิการ, เชื้อชาติ, อาชีพ, ลักษณะทางเพศเท่านั้น [8]

แม้แต่ความเชื่อในลัทธิศาสนา และการเมือง ก็ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายของออสเตรเลียด้วยเช่นกัน [8]

ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่นักเรียนไทยในออสเตรเลียหน้าใหม่ จะถูกเตือนโดยรุ่นพี่ก็คือ ห้ามล้อกันเล่นว่า “ไอ้ลาว” เพราะอาจถูกคนลาวฟ้องร้องในข้อหาดูหมิ่นเหยียดหยามเชื้อชาติของเขาได้นั่นเอง

—-

บางที กรณีลาซาด้า อาจจะเป็นการส่งสัญญาณเตือนต่อสังคมว่า

ได้เวลาที่สังคมไทยจะหันมาตระหนักรู้ และต่อต้านพฤติกรรมการดูหมิ่นเหยียดหยาม ในทุกรูปแบบ ทุกระดับชั้นของสังคมได้แล้ว

และควรจะมีการผลักดันให้มีการส่งเสริมความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ ตลอดจนมีการผลักดันกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามโดยเฉพาะ

ก่อนที่สังคมไทยที่เรารัก จะล่มสลายไปจากความสนุกบนความทุกข์ของผู้อื่น เพียงเพราะความเพิกเฉยไม่ตระหนักรู้ของพวกเรา

โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า