
เสรีภาพมีราคา อย่าหมิ่นประมาทออนไลน์ ถ้าไม่รวยพอ
“ในการใช้สิทธิและเสรีภาพของตน ทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อความมุ่งหมายในการรับรองและเคารพในสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นเท่านั้น และเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดอันเที่ยงธรรมของศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชน และสวัสดิการทั่วไปในสังคมประชาธิปไตย” – ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, มาตรา 29 ข้อ 2 [1]
ข้อความข้างต้น คือข้อความจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่ 193 ประเทศในสหประชาชาติล้วนลงนามรับรองว่าจะปฏิบัติตาม ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน
ดังนั้น ประเทศเสรีประชาธิปไตยทุกประเทศ ย่อมมีกฎหมายที่ให้สิทธิในการแสดงออกแก่มนุษย์ทุกคน ตราบเท่าที่การแสดงออกนั้น มิได้ละเมิดต่อศีลธรรมอันดี ความสงบเรียบร้อยของสังคม และกฎหมายของประเทศนั้น ๆ รายละเอียดอาจจะแตกต่างกันไป แต่โดยหลักการแล้วเหมือนกัน
พัฒนาการของโซเชียลมีเดีย ทำให้การแสดงออกของบุคคลสามารถแพร่ออกไปได้เร็วและกว้างไกลกว่าในอดีตมาก โพสต์ใด ๆ อยากจะถูกเข้าถึงโดยผู้คนนับล้าน ภายในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน นั่นทำให้การเกิดข้อพิพาททางความคิด เกิดขึ้นได้เร็ว และกว้างมากกว่าเดิม
สิ่งที่ตามมาก็คือ การหมิ่นประมาท และการฟ้องหมิ่นประมาทจากการแสดงความคิดเห็นออนไลน์นั่นเอง
ถึงแม้ว่าจะเป็นการกระทำบนโลกออนไลน์ แต่กฎหมายหมิ่นประมาท ยังคงอ้างอิงตาม “ประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ลักษณะ 11 หมวด 3 ความผิดฐานหมิ่นประมาท” ซึ่งหมายถึงการกระทำอันทำให้ ”ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง” ดุจเดิม
สำหรับรายละเอียดบางประการ ที่หลายท่านยังไม่ทราบเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทออนไลน์ มีดังนี้
- ตอบคำถาม ก็ผิดได้ ดังปรากฏใน “คำพิพากษาฎีกาที่ 79/2537” ซึ่งจำเลยเพียงตอบข้อซักถาม แต่คำตอบนั้นทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง จึงมีความผิด [4]
- พูดความจริง ที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย มีความผิด แต่หากพูดเท็จจนเหลือเชื่อ กลับไม่ผิด (คำพิพากษาฎีกาที่ 256/2509) [5]
- พูดถาก ๆ เลี่ยงบาลี แต่มีบริบทที่ระบุได้ว่าหมายถึงใคร มีความผิด (คำพิพากษาฎีกาที่ 256/2509 และ 3493/2562) [5] [7]
- จะอ้างว่านึกว่าผู้ฟังไม่เข้าใจไม่ได้ หากข้อความนั้นเป็นข้อความที่คนทั่วไปฟังแล้วเข้าใจ (คำพิพากษาฎีกาที่ 3920/2562) [8]
- เปิดโพสต์สาธารณะ เข้าข่ายหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา มาตรา 328 โทษหนักกว่าหมิ่นประมาททั่วไป [2]
- ทำให้ผู้อื่นเสียหายด้วยข้อความอันเป็นเท็จ เป็นความผิดทางแพ่งด้วย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423) [3]
- ทำให้ผู้ตายเสียหาย ญาติพี่น้อง ลูกหลาน สามารถฟ้องแทนได้ (อาญา มาตรา 327) [2]
- ใช้คำหยาบคาย มีความผิดด้วยเช่นกัน [9]
โดยหลักการพิจารณาคดี โดยพื้นฐานผู้พิพากษาจะมุ่งพิจารณาเจตนาของผู้กระทำเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองเอาไว้ก่อนก็ดี หรือโดยไม่มีการยับยั้งชั่งใจก็ช่าง หากเป็นการกระทำโดยเจตนาร้าย และทำให้ผู้อื่นเสียหายตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ศาลย่อมพิจารณาว่ามีความผิดทั้งสิ้น
หากเราโกรธ และนึกด่าในใจ เราย่อมไม่ผิด แต่ถ้าสิ่งที่เราคิด เผยแพร่ออกไป ถือว่าเราได้กระทำลงไปแล้ว ย่อมต้องได้รับผลของกรรมนั้น ตามกฎหมาย
ก่อนกด Enter ส่งข้อความใด ๆ ออกไป พิจารณาให้ถ้วนถี่สักนิด อย่าเพิ่งคิดสั้นเลย