
เข้าใจความสัมพันธ์ของผู้ว่า ฯ กรุงเทพ และ ส.ก. ที่เป็นทั้งในลักษณะของการถ่วงดุลอำนาจและร่วมมือกัน เพื่อการผลักดันนโยบายที่ดีแก่ กทม
จากช่วงเวลาของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่ใกล้เข้ามาถึง คำถามสำคัญหนึ่งที่สังคมเริ่มตั้งคำถามต่อเรื่องนี้ คือ ถ้าผู้ว่า กทม. กับ ส.ก. ไม่ใช่เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน แล้วต้องทำงานร่วมกันในบทบาทที่ได้รับจะเกิดอะไรขึ้นต่อการบริหารและกำกับดูแลราชการกรุงเทพมหานคร
เพราะต้องอย่าลืมข้อหนึ่งว่า สมาชิกสภากรุงเทพมหานครมีบทบาทในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบ กำกับดูแล รวมทั้งเสนอญัตติในสภากรุงเทพมหานคร และเวลาเลือกตั้งทีก็ไม่ได้เลือกเหมือนกับการเลือกตั้งในระดับชาติ เพราะระดับชาติเลือกแค่ สส. แล้วให้ สส. เลือกนายกรัฐมนตรีมาอีกทีหนึ่ง
แต่ของกรุงเทพมหานครมีทั้งเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและเลือกสมาชิกสภากรุงเทพมหานครแยกต่างหาก คนละเบอร์เลยด้วยซ้ำ จึงทำให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติของกรุงเทพมหานครจะแตกต่างจากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติในระดับชาติ โดยของกรุงเทพมหานคร ระบบฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจะแยกต่างหากโดยเด็ดขาด ในขณะที่ในระดับชาติ ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติจะมีความใกล้ชิดกันมากกว่า
และพอเป็นเช่นนี้แล้วการที่ผู้ว่า กทม. กับ ส.ก. ไม่ได้อยู่กลุ่มก้อนเดียวกันจากการเลือกตั้ง จึงอาจถูกมองว่าเป็นฝันร้ายของทั้ง 2 ฝ่ายโดยทันที เพราะ ฝ่ายบริหารท้องถิ่นคือ ผู้ว่า กทม. จะใช้อำนาจที่มีอยู่เต็มที่ได้นั้นก็ต้องได้รับการรับรองและอนุมัติจากสภากรุงเทพมหานครซึ่งการที่ไม่ใช่กลุ่มก้อนเดียวกัน การดำเนินนโยบายของผู้ว่า กทม. ก็ย่อมไม่ราบรื่นเท่าที่ควรและอาจทำให้นโยบายที่ต้องการผลักดันอาจต้องเป็นอันยุติลง
ทว่าไม่ใช่เพียงผู้ว่า กทม. เท่านั้น ที่ต้องประสบกับฝันร้ายดังกล่าว ส.ก. เองก็ไม่พ้นฝันร้ายเช่นกัน เพราะ ส.ก. ซึ่งเป็นตัวแทนของเขตและมีหน้าที่หนึ่งที่สำคัญคือ การประสาน ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ซึ่งหาก ส.ก. กับผู้ว่า กทม. ไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน การประสานงานจะทำได้ค่อนข้างลำบาก รวมทั้งการปฏิบัติงานของ ส.ก. ก็จะติดขัดไปด้วย ส่งผลทำให้กระบวนการต่าง ๆ จะยิ่งล่าช้าไปอีก
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ถ้าผู้ว่า กทม. และ ส.ก. ไม่ได้เป็นกลุ่มเดียวกัน ก็จะทำให้ทุกอย่างช้าไปหมดเสมอไป เพราะถ้าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารตกลงกันได้ในเรื่องต่าง ๆ การดำเนินนโยบายและเป้าหมายของทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารก็จะดำเนินต่อไปได้ในลักษณะของการถ่วงดุลอำนาจและร่วมมือกันในประเด็นที่มีความต้องการที่จะผลักดันร่วมกัน ซึ่งเป็นไปตามระบบการเลือกตั้งท้องถิ่นของ กทม. มาโดยตลอด
สมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่า กทม. ย่อมอยู่คู่กันในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารท้องถิ่น การที่ 2 ตำแหน่งนี้ไม่ได้มาด้วยกัน และมีมุมมองความคิดที่แตกต่างกัน ย่อมหมายถึง การดำเนินนโยบายที่แตกต่างกันและอาจหมายถึงการยุติลงของนโยบายอะไรหลายอย่างตราบที่ไม่ได้ตกลงและประนีประนอมระหว่าง 2 ฝ่ายข้างต้น ซึ่งการร่วมมือกันระหว่าง 2 ฝ่าย ในการผลักดันนโยบายดี ๆ ย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เจริญเติบโตและเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนกันต่อไป
โดย ชย