
วิกฤตข้าวสาลี สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำอาหารขาดแคลนทั่วโลก
ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ราคาข้าวสาลีได้พุ่งทะยานแตะระดับสูงสุดเนื่องจากผู้ส่งออกรายใหญ่ได้แก่ รัสเซีย ยูเครน คาซัคสถาน และอินเดียระงับการส่งออกชั่วคราว
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ราคาข้าวสาลีเพิ่มขึ้นกว่า 60% โดยมีสาเหตุมาจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นประเทศที่มีมูลค่าส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก โดยในปีที่แล้วสัดส่วนการส่งออกข้าวสาลีของรัสเซียและยูเครนอยู่ที่ 16% และ 10% ของการส่งออกข้าวสาลีทั่วโลก
ในเดือนกุมภาพันธ์รัสเซียได้เริ่มจำกัดการส่งออกธัญพืชทั้งหมด (ข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด) นอกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) จนถึงเดือนมิถุนายน
ในขณะที่ยูเครนได้ปิดท่าเรือที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในออเดซา ตามมาด้วยคาซัคสถานที่ได้เริ่มระงับการส่งออกข้าวสาลีตามรัสเซียมาติดๆ และล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาอินเดียก็ได้ประกาศระงับการส่งออกข้าวสาลีเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่า ความมั่นคงด้านอาหารของอินเดียและประเทศเพื่อนบ้านอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง
ทันทีที่อินเดียประกาศระงับส่งออกข้าวสาลี สัญญาซื้อขายล่วงหน้าข้าวสาลีในตลาดชิคาโกพุ่งทะยานขึ้น 6% ไปอยู่ที่ 12.47 ดอลลาร์/บุชเชล ซึ่งนับเป็นราคาสูงสุดในรอบ 2 เดือน และในยุโรปเองราคาข้าวสาลีก็แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 461 ดอลลาร์/ตัน ทั้งนี้แอฟริกาได้รับผลกระทบหนักสุดเนื่องจากต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวสาลีถึง 90%
นอกจากรัสเซียและยูเครนแล้ว ยังมีผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ หรือแคนาดา ซึ่งส่งออกข้าวสาลีราว 25% ของทั้งโลก และผู้ผลิตรายใหญ่ฝั่งยุโรปไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส หรือเยอรมนี
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ประเทศผู้ผลิตข้าวสาลีเหล่านี้คงไม่เจียดผลผลิตธัญพืชของตัวเองให้กับประเทศที่กำลังยากลำบาก เนื่องจากประเทศตัวเองก็กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินเฟ้อ ค่าพลังงานที่สูงลิ่ว ฯลฯ
เลขาธิการสหประชาชาติ อังตอนียู กูแตรึช ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ โดยระบุว่าสถานการณ์ตลาดข้าวสาลีในปัจจุบัน อาจทำให้ประชากรโลกราว 1 ใน 5 ต้องอดอยาก
อีกด้าน นักวิเคราะห์จากสถาบัน Ingosstrakh Investments ระบุว่า ปัญหาเกี่ยวกับอุปทานของสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายเช่น ข้าวสาลี น่าจะคลี่คลายภายในฤดูกาลเก็บเกี่ยวรอบต่อไป