Articlesประเทศไทยมีเจตจำนงในการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการจริงหรือ?

ประเทศไทยมีเจตจำนงในการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการจริงหรือ?

จากกรณีที่มีการฟ้องร้องทั้งทางแพ่ง และมีการเรียกร้องให้มีการไต่สวนในกรณีที่วิทยานิพนธ์ของนายณัฐพล ใจจริง ถูกพบว่ามีการใช้ “อ้างอิงที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีอยู่จริง” นั้น ทำให้เกิดการวิพากวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางระหว่าง “การให้เสรีภาพในทางวิชาการอย่างไม่มีขอบเขต” กับ “ความรับผิดชอบต่อบุคคลอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการถูกอ้างถึง”

เสรีภาพในทางวิชาการนั้น อาจารย์เบญจรัตน์ แซ่ฉัว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ให้ความหมายที่ดีว่า นักวิชาการควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นเท่ากับประชาชนทั่วไป แต่ในฐานะผู้แสวงหาความรู้ใหม่ ๆ นั้น รัฐไม่ควรจะใช้อำนาจที่มีเข้ามาทำการกดขี่กดดันมิให้นักวิชาการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ [1]

อย่างไรก็ตาม ศ. ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้ความเห็นถึง “ขอบเขตของเสรีภาพทางวิชาการ” ว่า “เสรีภาพทางวิชาการมันถูกจำกัดโดยตัวของมันเองเมื่อมันไปปะทะกับเสรีภาพประการอื่นซึ่งมีความสำคัญกว่า เช่น เราจะใช้เสรีภาพในทางวิชาการนำมนุษย์มาทดลองไม่ได้เพราะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นนักวิชาการจึงจะอ้างเสรีภาพตลอดไม่ได้ เพราะเสรีภาพในทางวิชาการไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่มีเสรีภาพประการอื่นอยู่ด้วย” [2]

นี่จะเห็นได้ว่า แนวคิดของทั้งสองท่านนั้น สอดคล้องกับ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, มาตรา 29 ข้อ 2 ที่ว่า “ในการใช้สิทธิและเสรีภาพของตน ทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อความมุ่งหมายในการรับรองและเคารพในสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นเท่านั้น และเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดอันเที่ยงธรรมของศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชน และสวัสดิการทั่วไปในสังคมประชาธิปไตย” อย่างชัดเจน [3]

ดังนั้น เสรีภาพทางวิชาการนั้น ควรจะเป็นไปโดยเสรี ตราบเท่าที่ไม่กระทบต่อศีลธรรม ความสงบเรียบร้อย และสวัสดิการทั่วไปของสังคม

สำหรับในมุมของกฎหมายไทย รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ระบุในมาตรา 34 วรรค 2 ชัดเจนและสอดคล้องกับปฏิญญาสากล ฯ ว่า “เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น” [4]

และเมื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญา, ภาค 2 ความผิด, ลักษณะ 11 ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง, หมวด 3 ความผิดฐานหมิ่นประมาท แล้ว จะพบว่า ถึงแม้จะมีการระบุลักษณะความผิดฐานหมิ่นประมาทเอาไว้ในมาตรา 326 – 328 ก็จริง แต่ในมาตรา 329 กลับปกป้องผู้ถูกฟ้องชัดเจนว่า

“ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต [..] (๓) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ [..] ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”

นอกจากนี้ มาตรา 330 วรรค 2 ระบุว่า “ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”

ซึ่งนี่เห็นได้ชัดว่า กฎหมายไทย ให้ความคุ้มครองต่อผู้เผยแพร่ วิจารณ์โดยสุจริตอยู่แล้ว ดั่งที่อาจารย์เบญจรัตน์พูดถึง เพียงแต่ตัวนักวิชาการเองนั้น มีความจำเป็นที่จะต้อง แสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ถึง “ความสุจริตของงานวิชาการ” ของตน เมื่อถูกสังคมตั้งคำถาม

อีกทั้งยังต้องมีความรับผิดชอบ เพื่อมิให้เสรีภาพทางวิชาการของตน ไปกระทบกับสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นและสังคม ตามหลักการของ อ. วรเจตน์ และ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนั่นเอง

และนี่เป็นหลักปฏิบัติที่ประเทศอื่นเขาก็ทำกันด้วยเช่นกัน

ในยุโรป พ.ศ. 2563 ศาลเยอรมนีตัดสินให้ ดร. อันนา ไฮจโควา (Anna Hájková) มีความผิดฐานหมิ่นประมาททำให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง จากการกล่าวอ้างรายงานทางวิชาการที่ “มีแหล่งอ้างอิงที่พิสูจน์ไม่ได้” อันทำให้ทายาทของผู้ถูกกล่าวอ้างนั้นเสียหาย และในเรื่องนี้นั้น มหาวิทยาลัยวาร์วิค ต้นสังกัดของเธอ ก็มิได้ปกป้อง ดร. อันนาแต่อย่างใด แต่กลับไต่สวนจนยืนยันว่า “คำกล่าวอ้างของ ดร. ไฮจโควา ขาดหลักฐานที่เพียงพอที่จะสนับสนุนยืนยันในข้อเท็จจริง” [7]

ดร. แอนนา ไฮจโควา เป็นนักประวัติศาสตร์ ที่เชี่ยวชาญในประวัติศาสตร์ LGBTQ+ เป็นพิเศษ และมีเชื้อสายยิว แต่เธอถูกฟ้องร้องโดยลูกสาวของอดีตนักโทษชาวยิวในค่ายกักกันรายหนึ่ง จากการที่ไฮจโควากล่าวอ้างในงานวิชาการของเธอว่า แม่ของเธอนั้นมีเพศสัมพันธ์แบบเลสเบี้ยนกับผู้คุมค่ายกักกัน แอนนาลีสซา โคลแมนน์ (Anneliese Kohlmann) ทั้ง ๆ ที่เธอให้สัมภาษณ์ว่า แอนนาลีสซา เพียงชมชอบแม่ของเธอ จึงแอบช่วยเหลือ และไม่เคยพูดว่าแม่ของเธอมีเพศสัมพันธ์กับแอนนาลีสซา [9]

ในทางวิชาการ มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าแอนนาลีสซา เป็นเลสเบี้ยนจริง และมีความสัมพันธ์ทางเพศกับนักโทษหญิงบางคนในค่ายกักกันจริง [8] แต่ ดร. ไฮจโควา กลับไม่สามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่า แม่ของผู้เสียหายมีความสัมพันธ์ทางเพศกับแอนนาลีสซาหรือไม่ ดร. ไฮจโควาจึงถูกศาลพิพากษาให้แพ้คดี [6]

คดีนี้ เป็นได้ชัดเจนว่า ดร. ไฮจโควา ทราบชัดอยู่แล้วว่า เธอไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า นักโทษชาวยิวคนนั้นมีเพศสัมพันธ์กับแอนนาลีสซาหรือไม่ แต่กลับไม่ซื่อสัตย์ต่อความเป็นนักวิชาการ เขียนข้อความอันพิสูจน์ไม่ได้ว่าจริง จนทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสีย

ซึ่งหากพิจารณาผ่านกฎหมายไทย จะพบว่าไฮจโควา ผิดตามมาตรา 327 – 328 และไม่สามารถพิสูจน์ความสุจริตของตนตามมาตรา 329 – 330 ได้

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ศาลเยอรมันและกฎหมายไทยมีแนวทางในการพิจารณาคดีความไปในทิศทางเดียวกันนั่นเอง

สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างไทย กับยุโรป คงจะเป็นตัวคณาจารย์และมหาวิทยาลัย เพราะทางยุโรปนั้น เลือกที่จะปกป้อง “ความถูกต้องในทางวิชาการ (ข้อเท็จจริง)” และ “ความน่าเชื่อถือ” ของมหาวิทยาลัยและวงการวิชาการ มากกว่าไทยที่เลือกที่จะปกป้อง “เสรีภาพ ที่กัดกร่อนตัวเอง” และละเลยการไต่สวนวิทยานิพนธ์ของนายณัฐพล นั่นเอง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า