
นโยบายวิภาค ผู้ว่า ฯ กรุงเทพมหานคร EP5: วิเคราะห์นโยบาย กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ของชัชชาติ สิทธิพันธุ์
จากนโยบายการหาเสียงของผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในตอน 5 ได้เลือกคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในฐานะตัวแทนผู้สมัครแบบอิสระที่มีนโยบายการหาเสียงต่าง ๆ ในการนำเสนอออกมาสู่สังคม
โดยนโยบายที่เป็นนโยบายหลักที่ผู้สมัครได้นำเสนอออกมา คือ “กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ซึ่งมีอยู่ประมาณ 200 นโยบาย ที่มี 9 หมวดหมู่ ได้แก่ ปลอดภัยดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี เศรษฐกิจดี เดินทางดี สุขภาพดี โครงสร้างดี เรียนดี และบริหารจัดการดี ซึ่งในหลายนโยบายก็จะเกี่ยวข้องในหลายหมวดหมู่เข้าด้วยกัน และมีทั้งนโยบายในระดับกรุงเทพมหานครและระดับเขตที่จะมีนโยบายแยกต่างหาก
และนโยบายที่มีความสนใจคือ “เพิ่มรถเมล์สายหลักและรอง ราคาถูกราคาเดียว” ซึ่งเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะพื้นฐานในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้สามารถเชื่อมต่อกันง่ายขึ้นทั้งจากระบบขนส่งสาธารณะหลักคือ รถไฟฟ้าและรถเมล์ที่เดินรถบนถนนสายหลัก และระบบขนส่งสาธารณะรองคือ รถเมล์สายรอง รถสองแถวหรือรถขนส่งมวลชนอื่น ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ
โดยไม่ใช่เพียงการเพิ่ม / ปรับเส้นทางวิ่งรถสาธารณะ เท่านั้นแต่ยังรวมถึงการเพิ่มความสะดวกในการใช้บริการโดยเฉพาะผู้พิการที่ต้องการใช้บริการขนส่งสาธารณะ และลดค่าใช้จ่ายของการใช้บริการผ่านการใช้ตั๋วออนไลน์ที่สามารถเปลี่ยนสายรถเมล์ได้โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารเพิ่มเติมภายในเวลาที่กำหนดหรือแม้แต่การบูรณาการระหว่างระบบขนส่งหลักของ กทม. และรถเมล์ กทม. ให้สามารถลดค่าแรกเข้าค่าโดยสารได้
และสิ่งที่นโยบายดังกล่าวพยายามผลักดันคือ ค่าโดยสารรถเมล์ 10 บาทตลอดสาย และกลุ่มนักเรียน ผู้สูงอายุ คนพิการและนักบวช สามารถใช้บริการได้ฟรี ซึ่งจะเป็นลดค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพการเดินทางภายในเมืองให้มีความสะดวกมากขึ้น
แต่นโยบายนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นนโยบายที่ดีและสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในกรุงเทพมหานครได้จริงแต่นโยบายนี้นอกจากจะต้องใช้งบประมาณในโครงการนี้เป็นจำนวนมากแล้วยังต้องมีงบประมาณในการบำรุงรักษาและกำกับดูแลอย่างต่อเนื่องในจำนวนที่สูงอยู่เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้โครงการนี้จำเป็นที่จะต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในประเด็นระบบขนส่งมวลชนเพื่อให้การผลักดันโครงการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้จริงและไม่เป็นภาระทางการเงินในอนาคต ซึ่งหากทำได้จริงในโครงการการพัฒนาขนส่งมวลชนทั้งระบบหลักและระบบรองนั้นก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและเป็นแบบอย่างที่ดีต่อการพัฒนาในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยต่อไป
โดย ชย