
คดีทุจริตยักยอกทรัพย์ของนายเนย ไวยาวัจกรวัดบวร ฯ กับบทพิสูจน์ความศักดิสิทธิของการปฎิรูประบบการทำบัญชีวัด ของมหาเถรสมาคม
เป็นข่าวดังเกี่ยวกับคดีการยักยอกทรัพย์สมบัติของวัดบวร ฯ และเงินบริจาคที่มีผู้มีจิตศรัทธาถวายให้สมเด็จพระวันรัตด้วยศรัทธา แต่เนื่องด้วยวัตรปฎิบัติอันเคร่งครัดของสมเด็จ ฯ จึงมอบหมายให้ นายเนย “ไวยาวัจกร” เป็นผู้ดำเนินการแทน [1] [2] [3]
จนเมื่องสมเด็จท่านละสังขารจากไป เรื่องจึงแดง เมื่อเครือข่ายลูกศิษย์ของสมเด็จ เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ จนสามารถจับกุมตัวได้ในที่สุด [1] [2] [3]
ไวยาวัจกรคือใคร ?
ย้อนไปเมื่อครั้งพุทธกาล พระปิลินทวัจฉะ หมายจะดัดแปลงเงื้อมเขาขาด ในเขตกรุงราชคฤห์เป็นอาวาสของท่าน พระเจ้าพิมพิสารจึงตรัสถามพระปิลินทวัจฉะว่า ประสงค์จะถวาย “คนทำการวัด” แต่พระปิลินทวัจฉะตอบว่า พระพุทธองค์ยังมิได้ทรงมีพุทธานุญาต พระเจ้าพิมพิสารจึงเสด็จไปทูลขอพุทธานุญาตจากพระพุทธองค์ [4]
นี่คือที่มาของ “คนวัด” ซึ่งมีหน้าที่ทำงานภายในวัด บำรุงพระศาสนาอยู่คู่กับวัดมาตั้งแต่พุทธกาล
สำหรับ ไวยาวัจกร ซึ่งมีความหมายว่า ผู้ทำกิจธุระแทนกิจของภิกษุสงฆ์ มีบทบาทในการบริหารจัดการ “ทรัพย์สิน” ของวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้พระภิกษุสามารถดำรงค์ชีพ และปฎิบัติสังฆกิจได้โดยสะดวกนั่นเอง [5]
ในพระวินัยปิฎก เหล่าไวยาวัจกรในยุคนั้น มีบทบาทในหลายกัณฑ์ (บท) ในฐานะผู้ดูแลทรัพย์สินของวัดวาอารม และปฎิบัติหน้าที่ของตนอย่างตรงไปตรงมา บางครั้งติเตียนกระทำการอันไม่สมควรของภิกษุสงฆ์อย่างตรงไปตรงมา นำความเรียบร้อย น่าเลื่อมใสศรัทธามาสู่คณะสงฆ์ [5]
การคงอยู่ ตัวตน และหน้าที่ของไวยาวัจกร จึงเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่คู่กับวัด, พระพุทธศาสนา และความน่าเลื่อมใสศรัทธา จากยุคพุทธกาล จวบจนปัจจุบัน
กฎหมายของไทย มีการกล่าวถึงไวยาวัจกรใน กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 พ ศ 2511 ซึ่งอ้างถึง พรบ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 [5]
ในกฎหมายฉบับเก่า พ.ศ. 2511 มีการกำหนดการแต่งตั้งไวยาวัจกร และบทบาทหน้าที่ของไวยาวัจกรเอาไว้ในฐานะ “ผู้จัดประโยชน์ของวัด” และในกรณีที่มีคดีที่เกี่ยวของกับทรัพย์สินวัด ไวยาวัจกร ก็มีฐานะเป็นโจทย์ หรือ จำเลยร่วมในคดีด้วย [5]
(ซึ่งปัจจุบัน กฎหมายฉบับพ.ศ. 2511 ถูกยกเลิก และมีการประกาศใช้ กฎกระทรวง การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด พ.ศ. 2564 แทนแล้ว [6])
เพื่อการปฎิรูปความเรียบร้อยของคณะสงฆ์ ที่เคยมีปัญหาจากความคลุมเครือของที่มาของเงินบริจาคและรายได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นต้นตอของกระบวนการฟอกเงิน ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “เงินทอนวัด” นั่นเอง
ในอดีตเคยมีตัวอย่างกรณีการฟอกเงินในหลายคดี เช่น คดีเณรคำ [7], คดีเสี่ยอู๊ด [7], หรือ วัดธรรมกาย [8]
ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม (ปัจจุบัน อาจารย์ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น ร.ศ. [9] ) คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เผยแพร่งานวิจัยชื่อ “การบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย” ใน พ.ศ. 2555 ซึ่งในงานวิจัยว่า วัดโดยส่วนมากยังไม่มีโครงสร้างในการบริหารการเงินของวัดไว้อย่างเป็นระบบ และหลายวัด ทำบัญชีได้ไม่ถูกต้องและสอดคล้องกับมาตรฐานบัญชี และไม่ได้รับการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีอนุญาต (CPA : Certified Public Accountant) อีกด้วย [10]
พ.ศ. 2559 อาจารย์ไพบูลย์ นิติตะวัน เคยกล่าวถึงปัญหาเงินทอนวัด” เอาไว้ว่า “ระบบของวัด ไม่มีการตรวจสอบเรื่องบัญชีที่ถูกต้อง” “ไม่สามารถตรวจสอบได้” ซึ่งทำให้กลายเป็นช่องโหว่ในการหลีกเลี่ยงภาษี การฟอกเงิน และการฉ้อโกงประชาชน [11]
ในข่าวเดียวกัน นายสมชาย สุรชาตรี โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ขณะนั้น) ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีกฎหมายให้ทางวัดต้องเปิดเผยบัญชีต่อสาธารณา วัดอาจจะยินยอมหรือไม่ก็ได้ และหากบีบคั้นทางวัดมากเกินไป อาจเป็นการผิดกฎหมายก็เป็นได้ [11]
สำหรับความพยายามในการปฎิรูประบบบัญชีวัดนั้น เริ่มมีความพยายามในการขอความร่วมมือจากวัดทั่วประเทศมาตั้งแต่ พ.ศ. 2550 และเริ่มให้วัดทั่วประเทศส่งรายงานบัญชีประจำปี โดยอาศัย “มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 18/2558” [12] ซึ่งวัดทั่วประเทศ มีความพยายามในการปรับตัวมาตลอด [13]
จนกระทั่ง วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564 สำนักนายกรัฐมนตรีประกาศออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ ฉบับ พ.ศ. 2564 ยกเลิกฉบับเก่าที่ล้าสมัยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2511 โดยเนื้อหามีการระบุให้วัดทุกวัดมีการทำบัญชีอย่างเป็นระบบ ตามที่สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติกำหนด และจะต้องมีการนำส่งบัญชีต่อสำนักพระพุทธศาสนาทุก ๆ ปี ตามรอบปีปฎิทิน [6] ซึ่งเป็นการประกาศบังคับใช้ระบบการทำบัญชีวัดที่ได้มาตรฐานนั่นเอง
คดีนายเนย ไวยาวัจกรของสมเด็จพระวันรัต อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ ฯ ซึ่งทุจริต ยักยอกทรัพย์สินวัดมาเป็นของตนนั้น อาจจะกลายเป็นคดีแรกที่พิสูจน์ประสิทธิผลของการบังคับใช้กฎหมาย “การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด พ.ศ. ๒๕๖๔” และความพยายามของมหาเถรสมาคม ในการใช้ระบบบัญชี ในการชำระล้างความมัวหมองและทุจริตภายในวัด คือความสดใสให้แก่วงการพระพุทธศาสนาไทย
อ้างอิง :
[1] รวบศิษย์คนสนิท “สมเด็จพระวันรัต” ยักยอกเงินกว่า 200 ล้าน ล่าสุดวัดบวรฯออกแถลงการณ์แล้ว
[2] เบื้องลึกยักยอกทรัพย์วัดบวร จับคนสนิท”สมเด็จพระวันรัต”สะท้านสำนักพุทธฯ
[3] ไวยาวัจกรวัดบวรฯอมเงิน 80 ล้านบาท เป็นศิษย์ผู้รับใช้สมเด็จพระวันรัต
[4] พระปิลินทวัจฉเถระซ่อมแปลงเงื้อมเขา
[5] คู่มือไวยาวัจกร
[6] กฎกระทรวง การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด พ.ศ. ๒๕๖๔
[7] แฉกลยุทธ์ฟอกเงินผ่านระบบบัญชีวัด ซื้อรถแพงขายถูก-ก่อสร้างงบเกินจริง
[8] DSI ดำเนินคดีฟอกเงินกับเครือข่ายวัดพระธรรมกายเพิ่มเติม
[10] การบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย
[11] นักบุญใช้ช่องโหว่บริจาควัด ฟอกเงิน-ไร้กฎหมายเอาผิด